เลิกบุหรี่บ้านละคน

แคมเปญ "เลิกบุหรี่บ้านละคน" มุ่งหวังให้แต่ละบ้านเลิกบุหรี่ได้อย่างน้อย 1 คน เทียบเท่าการเลิกบุหรี่ได้ 264,000 คน

เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน และ เลิกบุหรี่บ้านละคน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

มีคนถามผมมากว่าทำไมเลิกบุหรี่จึงต้องเริ่มที่บ้าน และทำไมต้องเลิกให้ได้บ้านละคน

ผมขอตอบสองคำถามนี้ไปทีละคำถาม โดยใช้ข้อมูลจากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

คำถามแรกทำไมเลิกบุหรี่จึงต้องเริ่มที่บ้าน?

แม้ทุกคนจะรู้ดีว่ามีความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดกับครอบครัวผู้สูบบุหรี่ แต่คำตอบจริง ๆ ก็คือ เพราะบ้านเป็นที่อยู่ที่นอนของทุกคนในครอบครัว มีรายงานวิจัยการสูบบุหรี่ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสี่อำเภอในสงขลา) ของ สสม. ที่พบว่าพื้นที่นี้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 33.38 โดยร้อยละ 78 ของผู้ที่สูบบุหรี่สูบทุกวัน และร้อยละ 71 ใช้บ้านเป็นที่สูบบุหรี่ ซึ่งอัตราการใช้บ้านเป็นที่สูบบุหรี่สูงมากเหมือนกันหมด ทั้งในกลุ่มผู้นำศาสนา และบุคลากรครู ถ้ายังปล่อยให้ยังสูบบุหรี่ที่บ้านกันต่อไปเช่นนี้ จะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ต้องได้รับอันตรายและทุกข์ทรมานจากควันบุหรี่ในครัวเรือน คือ ภรรยา บุตร และพ่อแม่ของคนสูบ (ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ผู้สูบบุหรี่รักและห่วงใย) และถ้าคิดจากครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่อย่างน้อยหนึ่งคนประมาณร้อยละ 44 ของครัวเรือนในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 6 แสนครัวเรือน ย่อมหมายถึงคนที่บ้านอีกไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคน ดังนั้นการเลิกบุหรี่จึงต้องเริ่มที่บ้าน และ “คนที่บ้าน” ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง คือกลุ่มคนที่จะเป็นหัวหอกในการดำเนินการนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าทุก ๆ บ้านจะมีคนอีกสามหรือสี่คนคุมคนสูบบุหรี่ 1 คน เข้าไปศึกษารายละเอียดโครงการ "เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน" ได้เลย

คำถามที่สองทำไมจึงต้องเลิกให้ได้บ้านละคน?

คำตอบคือการจะทำอะไรให้สำเร็จต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นต้องมีความเป็นไปได้ จากสถิติปี 2558 ที่แสดงสัดส่วนของครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่อย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 44 ของครัวเรือนทั้งหมด จึงหมายถึงจำนวนครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ทั้งสิ้นกว่า 264,000 ครัวเรือน การวางเป้าหมายให้สมาชิกในครัวเรือนเหล่านี้เป็นหัวหอก ร่วมกันควบคุม และโน้มน้าวให้คนในครอบครัวเลิกบุหรี่ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งคน ย่อมหมายถึงคนเลิกบุหรี่จำนวนมากถึง 264,000 คนด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่เดิมร้อยละ 33.38 ของประชากรในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปจำนวน 1.38 ล้านคน ความสำเร็จของการรณรงค์นี้จะลดอัตราการสูบบุหรี่ลงเหลือเพียงร้อยละ 14.25 เท่านั้น

ซึ่งปัจจุบัน มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ยึดแคมเปญ "เลิกบุหรี่บ้านละคน" ในหลายๆ โครงการโดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบมุสลิมไทย สสม. ถือเป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มแคมเปญนี้ หากท่านพบเห็นคำนี้ไม่ว่าจะอยู่ตามป้าย โปสเตอร์ สื่อต่างๆ หรือที่ที่มีคนพูดถึง "เลิกบุหรี่บ้านละคน" แสดงว่า สสม. เข้าถึงพื้นที่ตรงนั้นแล้ว รอให้ท่านเข้าไปช่วยสานต่อเจตนารมน์การลด ละ เลิกบุหรี่อย่างจริงจัง และประกาศความสำเร็จไปด้วยกัน

จริง ๆ แล้วยังมีเหตุผลดี ๆ อีกมากมาย ที่จะบอกว่าทำไมการ “เลิกบุหรี่” จึงต้อง “เริ่มที่บ้าน” และทำไมจึงต้อง “เลิกบุหรี่บ้านละคน” แค่คำตอบที่ให้กับคำถามสองข้อข้างบนก็น่าจะเกินพอแล้ว ที่จะขยายแนวคิดนี้ทั่วประเทศไทยไม่ใช่หรือ?

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดร.อิศรา ฯ ยืนยัน "เลิกบุหรี่บ้านละคน" ทำได้จริง

วิดีโอแคมเปญเลิกบุหรี่บ้านละคน


แก้ไขล่าสุด : 2 พ.ย. 2563, เวลา 11:32


มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่