ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ
พ.ญ. จินตนา โยธาสมุทร
จัสมินเป็นหญิงอายุ 17 ปี เป็นคนผอมแห้ง มีอาการหอบเหนื่อยขณะออกกำลัง มีอาการไอและลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยในเวลากลางคืน แต่ยังไม่มีไอปนเลือด มานานประมาณ 1 เดือน แม่จึงพาไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์ได้ซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว พบว่าเธอมีเท้าบวม หน้าแข้งบวม ตับโต ชีพจรค่อนข้างเบาไม่สม่ำเสมอ ( atrial fibrillation ) คลำได้แรงกระแทกของหัวใจโตมาทางด้านซ้าย คลำได้ความสั่น ( thrill ) บริเวณหน้าอกด้านซ้าย ฟังได้เสียงฟู่กลางไดแอสโตล ( mid diastolic rumbling murmur ) บริเวณด้านซ้ายของกระดูกอกส่วนล่าง ได้ยินเสียงหนึ่งและการเปิดของลิ้นไมตรัล
( opening snap ) ชัดเจนบริเวณด้านซ้ายของกระดูกอกส่วนล่าง จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบมีหัวใจห้องบนซ้ายโต หัวใจห้องล่างขวาโต และหัวใจเต้นผิดปกติชนิด ( atrial fibrillation ) จากการตรวจภาพรังสีทรวงอก พบหัวใจห้องบนซ้ายโต หัวใจห้องล่างขวาโต เห็นหลอดเลือดพัลโมนารี
( pulmonary artery ) ชัดเจน หลอดเลือดบริเวณขั้วปอดโตขึ้น และหลอดน้ำเหลืองบริเวณชายปอดมีขนาดโตขึ้น จากการตรวจภาพเสียงสะท้อนหัวใจ echocardiography พบกลีบของลิ้นไมตรัลหนาตัวขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากหินปูนหรือพังผืดมาเกาะ ทำให้มีการเคลื่อนไหวของลิ้นลดลงและมีหัวใจห้องบนซ้ายโต แพทย์อธิบายว่า “ ลิ้นหัวใจไมตรัลเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและหัวใจห้องล่างซ้าย ทำหน้าที่เสมือนประตูปิดเปิดป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายกลับไปยังหัวใจห้องบนซ้าย โรคลิ้นหัวใจพิการซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง มีสาเหตุมาจากโรคไข้รูมาติกขณะอยู่ในวัยเด็ก จึงเกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ในกรณีของลูกคุณนั้นอาจมีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ ซึ่งปกติแล้วมักไม่มีอาการ จนกว่ารูเปิดของลิ้นไมตรัลจะลดแคบลงกว่าปกติประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้เลือดที่ไหลเข้าหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สะดวก ความดันในหัวใจห้องบนซ้ายจึงสูงขึ้น แต่จะต้องตรวจให้ละเอียดด้วยการสวนหัวใจและฉีดสารทึบรังสีเข้าในหัวใจห้องล่างซ้าย ว่ามีลิ้นไมตรัลรั่วร่วมด้วยหรือไม่” หลังจากสวนหัวใจและการฉีดสารทึบรังสี พบว่าจัสมินมีลิ้นไมตรัลตีบอย่างเดียว ไม่มีลิ้นไมตรัลรั่ว ซึ่งแพทย์ได้ให้การรักษาทางยาไปก่อน โดยให้ยาควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยารักษาภาวะหัวใจวาย ยาป้องกันโรคติดเชื้อ และยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการออกกำลังเกินควร งดสูบบุหรี่ และนัดตรวจติดตามดูเป็นระยะๆ เพื่อวางแผนการรักษาที่ได้ผลแน่นอน ด้วยการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจต่อไปในอนาคต
สุขสาระ กันยายน 2557
แก้ไขล่าสุด : 6 ก.พ. 2562, เวลา 18:05