Cushing syndrome โรคหรือกลุ่มอาการ คุชชิง
นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า
โรคคุชชิง หลายๆ คน คงจะไม่เคยได้ยินชื่อ หรือไม่รู้จักเลยก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันกลับเป็นโรคที่เราพบบ่อยได้อย่างมากไม่น่าเชื่อทีเดียว
ความจริงแล้ว ไม่ควรเรียกว่า “โรคคุชชิง” แต่น่าจะเรียกว่า “กลุ่มอาการคุชชิง” มากกว่า เพราะมันเป็นกลุ่มอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกายเราที่เกิดจากมีฮอร์โมน สเตียรอยด์ หรือ คอร์ติโซนมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดได้จากหลายๆ โรค หลายๆ สาเหตุ
ในร่างกายเรานั้น มีฮอร์โมนมหัศจรรย์อยู่ชนิดหนึ่ง คือคอร์ติโซน หรือ สเตียรอยด์ มันมีหน้าที่ช่วย ควบคุมระดับความดันโลหิต ไม่ให้ต่ำเกินไป ควบคุมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมกลไกการเผาผลาญน้ำตาล โปรตีน และไขมันต่างๆ ในร่างกาย ช่วยลดการอักเสบ ถ้าขาดฮอร์โมนชนิดนี้ไป เราก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ฮอร์โมนชนิดนี้สร้างขึ้นที่ต่อมหมวกไตที่อยู่บนไตทั้งสองข้าง ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมน คอร์ติโซนออกมา กลไกการหลั่งฮอร์โมนนี้ มีลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อน คล้ายๆ กับการสั่งงานราชการเลยทีเดียว และเป็นการสั่งการโดยอวัยวะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีสายเชื่อมต่อกัน แต่โดยการสั่งการผ่านฮอร์โมนชื่อต่างๆ กัน คล้ายๆ กับระบบ Wireless ในสมัยนี้
โดยเริ่มจากเมื่อระดับคอร์ติโซนในเลือดต่ำ จะไปกระตุ้นต่อมไฮโปทาลามัสให้ปล่อยฮอร์โมนชื่อ corticotropin-releasing hormone (CRH) ฮอร์โมนนี้จะวิ่งไปตามกระแสเลือดไปสู่ ต่อมใต้สมอง เมื่อต่อมใต้สมองได้รับคำสั่งแล้วก็จะออกคำสั่งในรูปฮอร์โมนที่ชื่อ ACTH (adrenocorticotropin hormone) ต่อไปยังต่อมหมวกไตที่อยู่บนไตทั้งสองข้าง ต่อมหมวกไตก็จะตอบสนองต่อคำสั่งโดยการหลั่งฮอร์โมน คอร์ติโซนออกมาในกระแสเลือด เมื่อในกระแสเลือดมีคอร์ติโซนเพียงพอก็จะหยุดกระตุ้นต่อมไฮโปทาลามัส ต่อมไฮโปทาลามัสนั้นก็จะหยุดการหลั่ง CRH ออกมา ดังนั้นขบวนการหลั่งคอร์ติโซนจึงสิ้นสุดลง แต่เมื่อใดระดับคอร์ติโซนในเลือดต่ำอีก ก็จะเกิดการกระตุ้นใหม่ ไม่มีที่สิ้นสุด และนี่คือขบวนการที่เรียกว่า feedback mechanism ที่วงการบริหารส่วนใหญ่เลียนแบบนำไปใช้ในปัจจุบัน แต่เมื่อใดก็ตามเกิดปัญหาขึ้นในขบวนการผลิตดังกล่าว ทำให้ไม่มีการฟังคำสั่งกัน ต่างฝ่ายต่างทำกันเองโดยไม่สนใจกัน feedback mechanism ก็ไม่เกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนในเลือดจึงผิดปกติไป คือมากกว่าปกติ เช่น เกิดเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หรือ ต่อมใต้สมองเป็นต้น เมื่อสารสเตียรอยด์ในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานานๆ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นโรคคุชชิงไปด้วยประการฉะนี้
ไม่ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่สร้างฮอร์โมนเหล่านี้ขึ้นมาได้ เราก็สามารถสร้างสเตียรอยด์ขึ้นมาเลียนแบบ สเตียรอยด์ในร่างกายได้เช่นกัน ทางการแพทย์เรานำเอาสเตียรอยด์มาใช้หลายอย่างในรูปของยาที่ชื่อว่า เพรดนิโซโลน หรือ เดกซาเมทาโซน เช่น นำมารักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืด หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นำมาใช้กดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่เปลี่ยนอวัยวะ นอกจากนี้ ยังมีการใช้อย่างผิดๆ โดยนำมาสร้างกล้ามเนื้อในพวกนักกีฬา หรือนำมาเป็นยาเจริญอาหาร แก้ปวดข้อ ปวดเข่า ในรูปยาลูกกลอนหรือสมุนไพรเป็นต้น ซึ่งจะให้ผลดีมากในระยะสั้น เพราะทำให้การอักเสบหายหมด ผู้ใช้ก็จะคิดว่า เป็นยาวิเศษ แต่เมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายขึ้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิง” ที่สำคัญๆ ได้แก่
- หน้าบวมกลมเหมือนดวงจันทร์ หรือ moon face
- ตัวอ้วนแต่แขนขาลีบ
- มีไขมันเป็นก้อนที่ต้นคอ คล้ายหนอกของวัว หรือ buffalo hump
- หน้าท้องและตามผิวหนัง เป็นลายแตกคล้ายคนคลอดลูก
- ความดันสูง เป็นเบาหวาน
- เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- ภูมิคุ้มกันต่ำ อ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย
- เป็นแผลง่ายหายช้า
- มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุในช่วง 20-50 ปี
- มีขนขึ้นตามใบหน้า หน้าอก เหมือนผู้หญิงมีหนวด
ถ้าไม่รักษามักจะเป็นมากขึ้น และเสียชีวิตจากการติดเชื้อหรือหัวใจล้มเหลวในที่สุด เมื่อแพทย์ได้พบกับผู้ป่วยที่มีลักษณะต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคคุชชิง แพทย์ก็จะทำการเจาะตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆที่กล่าวมาแล้วในร่างกาย รวมทั้งการทำ เอ็มอาร์ไอ(MRI) สแกนที่สมอง และในท้องเพื่อดูต่อมหมวกไต แพทย์ก็จะสามารถบอกได้ว่าสาเหตุเกิดจากส่วนใด และให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง
ถ้าเกิดจากการกินยาสเตียรอยด์มากเกินก็จะต้องค่อยๆ ลดขนาดของยา จนถึงขนาดที่น้อยที่สุดที่จำเป็นหรืออาจให้กินยาแบบวันเว้นวันเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ถ้าเป็นเนื้องอกก็ต้องพยายามตัดออก เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ก็สามารถรักษาโดยการผ่าตัดก้อนเนื้องอกออก โดยสอดกล้องเข้าไปทางรูจมูก เพื่อไปตัดออก ได้ผลดีมากกว่าร้อยละ 80 หรืออาจพิจารณารักษาโดยการฉายแสง หรือใช้ยาร่วมด้วยก็ได้ ถ้ารักษาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้น และกลับกลายเป็นคนปกติได้ในที่สุด แต่อาจจะเหลือร่องรอยแผลเป็นไว้บ้างตามตัว
ดังนั้น ถ้าหากผู้ใดรู้สึกว่าตัวเองมีอาการของโรคคุชชิง และใช้ยาลูกกลอน สมุนไพรอยู่ ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ถูกต้องก่อนที่จะสายเกินไปครับ วัสลาม
สุขสาระ สิงหาคม 2554
แก้ไขล่าสุด : 3 พ.ค. 2562, เวลา 19:16