งานวิจัยระบุสูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย

งานวิจัยจาก ม.มหิดล ระบุว่า จากการตรวจปัสสาวะเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า 57 รายหรือร้อยละ 76 ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ (โคตินิน)

งานวิจัยระบุสูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ร่วมกับ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่  มูลนิธิเพื่อนหญิง  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี   โรงพยาบาลรามาธิบดี  มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และภาคีเครือข่าย  ได้จัดให้มีการแถลงข่าว  เรื่อง  “วิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย” เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการที่ต้องดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว  และร่วมกันสร้างค่านิยมให้คนไทยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งนอกจาก จะลดอันตรายของควันบุหรี่มือสองในบ้าน ยังทำให้เด็กในบ้านมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่น้อยลง  ผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่น้อยลงและเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

ควันบุหรี่เมื่อถูกหายใจเข้าสู่ปอด สารพิษในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไหลเวียนไปยังทุกอวัยวะของร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว สารพิษซึ่งรวมสารก่อมะเร็งยังผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้  สารพิษเหล่านี้บางส่วนจะถูกทำลายโดยตับ  ที่เหลือจะถูกขจัดออกทางปัสสาวะ การที่สารพิษและสารก่อมะเร็ง ถูกพาไปสัมผัสกับทุกอวัยวะ เป็นเหตุให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดโรคกับอวัยวะทั่วร่างกาย รวมถึงมะเร็ง 12 ชนิด

ข้อมูลจาก พญ.ปองทอง ปูรานิธี อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ระบุว่า จากการตรวจปัสสาวะเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ  ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า “57 รายหรือร้อยละ 76  ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ (โคตินิน)  ในระดับซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก  โดยพบว่าเด็กที่อาศัยในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ และแฟลต มีสารพิษในปัสสาวะสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ถึงสองเท่าตัว”

ในขณะที่ ข้อมูลจาก พญ.นัยนา ณีศะนันท์  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  ยังพบว่า “การสำรวจผู้ปกครองที่พาเด็กมาตรวจรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ระหว่างเดือน พ.ค.- ก.ย.2559  จำนวน 1,022 ครอบครัว โดยร้อยละ 96 ของเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่บ้าน พบว่าร้อยละ 45.6 หรือ 456 ครอบครัวมีสมาชิกที่สูบบุหรี่  ในจำนวนนี้ 101 ครอบครัว หรือ 21.5% สูบในบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย พบว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เป็นหวัดเจ็บคอบ่อย 268  คน  เทียบกับ 205  คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่  และมีอาการหอบเหนื่อยต้องพ่นยา 96 คน ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ เทียบกับ 53 คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ เกิดการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กในบ้านที่ไม่มีการสูบบุหรี่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ”

เพื่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกน้อยวัยซน ผู้ใหญ่ทุกคนต้องไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพื่อลดอันตรายของควันบุหรี่มือสองในบ้าน และทำให้เด็กในบ้านมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่น้อยลง

สุขสาระ ตุลาคม 2560

Tags : all โรค บุหรี่

แก้ไขล่าสุด : 14 พ.ค. 2562, เวลา 20:58


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่