ภาวะตะกั่วเป็นพิษ
ตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่มีลักษณะอ่อนทำให้หลอมเหลวได้ง่าย และสามารถพิมพ์แบบออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดี จึงมีการนำตะกั่วมาใช้ประโยชน์กันอย่างหลากหลายตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ภาวะตะกั่วเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย อาการของตะกั่วเป็นพิษเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ และคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้
ตะกั่วเป็นสารที่พบปนเปื้อนทั่วไป ในสมัยก่อนเด็กเป็นโรคพิษตะกั่วจากการรับประทานสีทาบ้าน หรือใช้มือจับของที่ติดสีดังกล่าว ในปัจจุบันสีทำด้วยตะกั่วน้อยลง แหล่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดพิษสำหรับผู้ใหญ่คือจากอุตสาหกรรมได้แก่ โรงงานทำแบตเตอรี่ และโรงงานอื่น ๆ ที่มีการใช้ตะกั่วอย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สำหรับประชาชนโดยทั่วไปอาจได้รับตะกั่วจากอากาศ ซึ่งมักมีตะกั่วปนเปื้อนจากการใช้สารประกอบของตะกั่ว ในน้ำมันรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ ได้แก่ หัวกระสุนตะกั่วที่ตกค้างในร่างกาย การทำงานในสนามยิงปืน ยาสมุนไพร หมึก แป้งทาตัวเด็ก (จุ้ยฮุ้ง) ภาชนะเซรามิก ที่มีตะกั่ว ท่อประปาที่ทำด้วยตะกั่ว ผลิตภัณฑ์จากแบตเตอรี่ และอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อน เหล้าไวน์ เครื่องยนต์ที่ใช้ตะกั่วเป็นส่วนประกอบ การเจียระไนพลอยที่ใช้จานตะกั่ว ตะกั่วที่ใช้เป็นตัวพิมพ์หนังสือ ตะกั่วถ่วงน้ำหนักม่าน สีที่ทาของใช้ของเล่นเด็ก หม้อที่มีสภาพขรุขระจากการกัดกร่อน ถ้าเราใช้นานๆ ขัดถูแรงๆ บ่อยๆ สารตะกั่วก็จะหลุดออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ และยิ่งอันตรายเมื่อปรุงอาหารรสเปรี้ยวด้วยน้ำส้มสายชู และอาหารที่มีรสเค็มมาก เพราะมีความเป็นกรดและด่างสูง
โดยสารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนี้
1. ทางการหายใจ เช่น การสูดฝุ่น ควัน ไอระเหยของตะกั่ว และขาดการป้องกันควบคุมอย่างถูกต้อง จึงทำให้ควันเหล่านั้นแพร่กระจายในสภาพแวดล้อมของการทำงาน ฯลฯ
2. ทางปาก เช่น การสูบบุหรี่ การทานอาหารในโรงอาหารของโรงงาน ซึ่งมีตะกั่วอยู่ในบรรยากาศ ฯลฯ
3. ทางผิวหนัง มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานกับน้ำมันเบนซิน เช่น ช่างฟิต เป็นต้น
อาการ อาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ปวดบิดอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับอาการท้องผูก หรือถ่ายเป็นเลือด และเนื่องจากพิษของตะกั่วที่มีต่อระบบเลือดอาจทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายและสร้างได้น้อยลงจนมีอาการซีด หรืออาจมีอาการปลายประสาทอักเสบ ที่พบได้บ่อย คือ ประสาทมือเป็นอัมพาต ทำให้ข้อมือตก เหยียดไม่ขึ้น และประสาทเท้าเป็นอัมพาต ทำให้ปลายเท้าตก เดินขาปัด ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก
ที่พบมากในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดภาวะที่ร้ายแรง เช่น ภาวะผิดปกติทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการนำมาก่อนด้วยอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ บุคลิกภาพเปลี่ยน และจะมีอาการชัก หมดสติตามมา ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตหรืออาจกลายเป็นสมองพิการ และปัญญาอ่อนได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา แต่ภาวะนี้พบได้น้อยในผู้ใหญ่ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริวในรายที่มีพิษตะกั่วเรื้อรัง หรืออาจพบรอยสีเทาๆ ดำๆ ของสารตะกั่วที่ขอบเหงือกในบางราย แต่จะไม่พบอาการนี้ในผู้ที่ไม่มีฟัน และพบอาการดังกล่าวได้น้อยในเด็ก
การป้องกัน
1. ควรหามาตรการป้องกันโดยการจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัยในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่ว เช่น เสื้อคลุมป้องกันพิษตะกั่ว มีอ่างน้ำและห้องอาบน้ำอย่างเพียงพอ มีทางระบายไม่ให้มีฝุ่นตะกั่วสะสม ไม่ควรสูบบุหรี่และกินอาหารในห้องที่มีสารตะกั่ว และทุก 6 เดือนควรมีการตรวจหาระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะ และควรหยุดงานหรือเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารตะกั่วหากตรวจพบว่ามีสารตะกั่วสูง หรือให้กินยาลดสารตะกั่วในรายที่มีตะกั่วสูงมาก ถึงแม้จะไม่มีอาการแสดงก็ตาม
2. เพื่อป้องกันมิให้นำอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีสารตะกั่วเจือปนไปใช้ในทางที่ผิดๆ จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วที่อาจปะปนอยู่ในสิ่งของต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย สีทาบ้าน หรือของเล่นเด็ก เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1. โรคตะกั่วเป็นพิษอาจมีอาการได้หลายแบบ หากมีความสงสัยควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล หรือหากพบผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ซีด ข้อมือตก ข้อเท้าตก บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เพ้อ ชัก หรือหมดสติ เป็นต้น
2. ไม่ควรนำผู้ป่วยไปรักษาทางไสยศาสตร์เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าถูกผีเข้า หรือวิกลจริต จากอาการผิดปกติทางสมองเนื่องจากตะกั่ว ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการแสดงแปลกๆ เช่น เพ้อ คลุ้มคลั่ง ชัก และมักจะเสียชีวิตลง ทางที่ดีควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเพราะมีทางรักษาให้หายได้
สุขสาระ ธันวาคม 2560
แก้ไขล่าสุด : 12 ส.ค. 2562, เวลา 23:43