เดินลดโรค
"การเดิน" คือการออกกำลังกายที่ง่าย สะดวก และปลอดภัยที่สุด แถมมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ทั้งการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะช่วงขา ช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้ดี การเดินระยะทาง 1.6 กิโลเมตร สามารถเผาผลาญไขมันส่วนเกินได้ถึง 100 กิโลแคลอรี
การเดินออกกำลังกายควรกระทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30-45 นาที วันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ 3-5 วัน เวลาที่คุณใช้กับการเดิน จะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสุขและสุขภาพที่ดีได้ ในเรื่องของความเร็วและระยะทางในการเดินนั้นขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน การเดินเร็วหรือจ๊อกกิ้งรวมไปถึงการเดินขึ้นลงบันไดช่วยเผาผลาญไขมันได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการเดินปกติ
การเดินเพื่อออกกำลังกายแม้จะง่าย สะดวก และปลอดภัยก็ตาม แต่ก็ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเท้าและหัวเข่า เพราะการเดินมากๆ จะทำให้ข้อและเข่าเจ็บ ควรเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายประเภทหรือชนิดอื่น เช่น เดินในน้ำ ว่ายน้ำหรือรำมวยจีน เป็นต้น
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ควรออกกำลังกายด้วยการเดิน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีน้ำตาลในร่างกายมากกว่าคนธรรมดา เนื่องจากเซลล์นำไปใช้ได้ไม่ดี เมื่อไม่ถูกใช้ก็จะเหลือน้ำตาลในกระแสเลือด นักวิทยาศาสตร์การกีฬาจะแนะนำคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานให้เดินออกกำลังกายมากกว่าการจ๊อกกิ้ง เพราะจะทำให้เซลล์ได้รับฮอร์โมนต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น น้ำตาลในเลือดถูกใช้มากขึ้น ปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำลง
การเดินออกกำลังกายมีวิธีการเฉพาะ กล่าวคือ ควรเริ่มที่ท่ายืนก่อน ปล่อยตัวตามสบายหายใจปกติ ขณะเดินควรเงยหน้ามองตรงไปให้ไกลที่สุด เทคนิคการเดินที่ถูกต้อง ขอแนะนำคือ “ควรเดินเร็ว ๆ ก้าวเท้าถี่ ๆ แกว่งแขนแรง ๆ” เพราะการเดินเร็วจะเป็นการกระตุ้นร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด ให้ทำงานเพิ่มมากขึ้นกว่าภาวะปกติในชีวิตประจำวัน เป็นเสมือนการฝึกให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้นนั่นเอง และควรปล่อยวางปัญหาความเครียดต่างๆ ไว้ข้างหลัง
ดังนั้นในใครที่บอกว่า “ฉันเดินทั้งวันแหละ” “ฉันทำงานบ้านเหนื่อยทั้งวันแล้วนะ ยังต้องออกกำลังอีกหรือ” ก็คงตอบคำถามได้ว่าการเดินหรือทำงานในชีวิตประจำวันนั้น ไม่สามารถฝึกระบบหัวใจและหลอดเลือดให้ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ จึงไม่ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่สามารถเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามการทำงานบ้านหรือการเดินในชีวิตการทำงานของเรานั้น นับเป็นกิจกรรมการออกแรงที่ดีอย่างหนึ่ง ดีกว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลย
และก่อนออกกำลังกายอย่าลืมอบอุ่นร่างกายก่อนเดิน โดยการยืดเส้นยืดสาย เพื่อให้ร่างกายรับรู้ถึงการเตรียมพร้อมของการทำงานของระบบต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บของระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น การเกิดข้อเท้าแพลง เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อยอก หรือปวดข้อ
สิ่งสำคัญของการออกกำลังกายด้วยการเดินอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เดินแล้วต้องรู้สึกเหนื่อย”ไม่ใช่เดินนวยนาด ส่วนในผู้ที่มีสุขภาพค่อนข้างดี เดินอย่างเดียวอาจไม่รู้สึกเหนื่อย แนะนำให้ใช้การเดินสลับวิ่ง เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของหัวใจก็ได้ อย่างเช่น เดิน 50 ก้าว สลับกับวิ่ง 50 ก้าว ประมาณ 5 ชุด ก่อนในตอนแรก แล้วค่อย ๆ เพิ่มจนได้ 10 ชุด/วัน หลังจากนั้นก็ลดจำนวนก้าวเดินลงเป็น 40 ก้าวสลับกับวิ่ง 50 ก้าว จนครบ 10 ชุด/วันเช่นกัน ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเหลือการเดินเป็น 10 ก้าวสลับกับวิ่ง 50 ก้าว แล้วจึงเพิ่มก้าววิ่ง เป็นต้น
นอกจากความรู้สึกเหนื่อยแล้ว “ความต่อเนื่องของการเดิน” ก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เดิน ๆ หยุด ๆ สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก อาจแบ่งการเดินออกเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงละประมาณ 10 – 15 นาที และในผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากน้อยๆก่อน เช่น เดิน 5 นาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น ค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียได้ ถ้าร่างกายไม่พร้อมออกกำลังกาย
ข้อดีของการเดิน
1. ช่วยให้การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น ซึ่งอวัยวะทั้ง 2 นี้มีความสำคัญต่อเซลล์ต่างๆ ทุกส่วนของร่างกายจำเป็นต้องได้รับเลือดที่นำเอาออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาหรือสารอาหารใด ที่จะทำให้หัวใจและปอดมีความแข็งแรง ทนทานได้ เท่าการออกกำลังกาย
2. ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่มักมีปัญหากระดูกบาง
3. ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย
4. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจใช้การเดินช่วยลดน้ำหนักตัวได้ โดยเดินวันละประมาณ 1 ชั่วโมง จะทำให้การเผาผลาญพลังงานในร่างกายเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวจึงลดลง ก็จะเป็นผลพลอยได้เพิ่มเติม
5. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินลดลงนั้น พบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อินซูลินทำงานดีขึ้น ร่างกายสามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้ดีขึ้น อันหมายถึงสามารถควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้นนั่นเอง
6. เพิ่มความสามารถในการคิด การจำดีขึ้น
7. ลดปัญหาการนอนไม่หลับ การเดินออกกำลังกายตอนเย็นแดดอ่อนๆ จะช่วยให้การนอนหลับดียิ่งขึ้น
8. ช่วยให้คลายเครียด รู้สึกสบายหลังเดินออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้สมอง
เกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ขึ้น ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและทำให้รู้สึกสุขสบาย
9. ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพศมากขึ้น ความรู้สึกทางเพศจึงดีขึ้นทั้งชายและหญิง
10. จิตใจสดชื่นเบิกบาน ปลอดโปร่งแจ่มใส กระชุ่มกระชวย รู้สึกมีความสุข
11. การเดินสามารถป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ได้ถึง 31% ในผู้หญิง
สำหรับรองเท้าที่ใช้เดินออกกำลังกายนั้นก็มีส่วนในการป้องกันการบาดเจ็บได้ไม่น้อยจึงควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นกันแรงกระแทกและรองรับอย่างมั่นคง
สุขสาระ กุมภาพันธ์ 2560
แก้ไขล่าสุด : 16 มิ.ย. 2562, เวลา 10:59