รับมือ "บ้านหมุน"

กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง เตรียมความพร้อมรับมือกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เสี่ยงต่ออันตรายหรืออุบัติเหตุ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่ที่รุนแรงน้อยจนถึงรุนแรงมาก หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งจะส่งผลต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกายทันที ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่รุนแรงจนรู้สึกว่าบ้านหมุน โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

1. โรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทางพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดขึ้นทันทีในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น โดยมีอาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วค่อยหายไป
2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเกิดจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการอาจจะนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ระหว่างที่เกิดอาการผู้ป่วยควรอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีการได้ยินลดลงและมีเสียงดังในหู
3. โรคอื่นๆ เช่น การอักเสบของหูชั้นใน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

นายแพทย์ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุจะรู้สึกวิงเวียนเหมือนสิ่งของรอบตัวหมุนได้ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียการทรงตัว อาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุ ดังนั้นเมื่อเวียนศีรษะจนบ้านหมุนควรหลีกเลี่ยงท่าทาง ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ

1.การหมุนหันศีรษะเร็วๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว
2.ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่
3.ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะ หรืออยู่ในที่สูง

ฝึกบริหารเพื่อช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะแบบง่ายๆ และทำได้ด้วยตนเอง
1. เริ่มต้นในท่านั่งตัวตรง
2. ล้มตัวลงนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งโดยให้ใบหน้าหรือปลายจมูกชี้ขึ้นทำมุมประมาณ 45 องศา
3. ค้างอยู่ในท่านอนอย่างน้อย 30 วินาที จนอาการเวียนศีรษะหายไป จากนั้นจึงกลับสู่ท่านั่งตัวตรงตามเดิม

ผู้สูงอายุควรดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้

ที่มา สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 16 ส.ค. 2561, เวลา 23:26



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่