โครงการ “เด็กตาดีกาพาเลิกบุหรี่” เป็นโครงการที่ปรับปรุงมาจากโครงการ “สัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่” เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้และสันทนาการเพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ให้กับเด็กโรงเรียนตาดีกา (ศูนย์อบรมจริยธรรมชุมชน) รวมถึงคุรุสัมพันธ์ในภาคกลาง ตระเวณไปตามมัสยิดต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีความคาดหวังให้เด็กๆ เป็นสื่อกลางนำความรู้และทักษะที่ได้ไปสร้างความเข้าใจกับคนในครอบครัวโดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ จนสามารถสร้างและใช้มาตรการต่างๆ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด
โครงการเด็กตาดีกาพาเลิกบุหรี่มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อสร้างเครือข่ายอาสามัครเด็กตาดีกาพาเลิกบุหรี่ที่จะช่วยสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่
- เพื่อถอดบทเรียนโครงการสัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่และพัฒนาเป็นคู่มือ “จัดกิจกรรมพาเลิกบุหรี่ในโรงเรียน”
รูปแบบกิจกรรม
การดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมด้วยการลดจำนวนเด็กในกิจกรรมสันทนาการ จากเดิม 50 คน (ในโครงการสัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่เดิม) เหลือไม่เกิน 30 คน และใช้เวลาในการพบปะกันให้น้อยลงจากเต็มวันเหลือเพียงครึ่งวัน รวมถึงการใช้คู่มือในการดำเนินงานและติดตามผลโครงการ โดยกระบวนการจัดกิจกรรมเป็นดังนี้
- คัดเลือกโรงเรียน (ตาดีกา) ที่สนใจและมีความพร้อม เช่น จำนวนเด็ก สถานที่ อุปกรณ์พื้นฐาน (เช่น เครื่องเสียง) พูดคุยรายละเอียดพร้อมนัดแนะวันจัดกิจกรรม
- ในวันจัดกิจกรรม ทีมงานจาก มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) 3 - 4 ท่าน จะเดินทางไปที่โรงเรียนตามเวลานัด พร้อมจัดกิจกรรมกับนักเรียนประมาณ 30 คน (ที่ทาง รร.คัดเลือกไว้) ใช้เวลาประมาณครึ่งวันโดยโรงเรียนไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ภายในครึ่งวันนี้มีกระบวนการหลักๆ ดังนี้
- แนะนำโครงการและกิจกรรมละลายพฤติกรรม
- ให้ความรู้เนื้อหาเรื่องบุหรี่ที่สำคัญและควรรู้ โดยยึดแคมเปญ "เลิกบุหรี่บ้านละคน"
- แนะนำคู่มือจัดกิจกรรมภายในบ้าน (เนื้อหาความรู้+เกมส์) พร้อมมอบคู่มือให้กับเด็กๆ โดยครูผู้ดูแลจะคอยติดตามและเก็บการบ้าน (บางส่วนจากในคู่มือ)
- ปิดท้ายด้วยกิจกรรมตอบคำถามมอบของรางวัล พร้อมมอบป้ายไวนิลโครงการและสื่อให้กับทางโรงเรียน
หมายเหตุ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมนำร่อง มีการติดตามโครงการตามแผนที่วางไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของโครงการ นำไปสู่การสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ กับทางโรงเรียน นักเรียน และครูผู้ดูแล เพียงแต่หวังในความร่วมมือในการกิจกรรม รวมถึงการเก็บการบ้านเด็กก็เพื่อวัดประสิทธิภาพของโครงการเท่านั้น ไม่มีถูกหรือผิด
- หลังจากจัดกิจกรรมไปแล้ว 2 เดือน ทีมงานจะเดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนครูที่ดูแลกิจกรรม (หรือประสานงานทางโทรศัพท์) เพื่อรับฟังความคิดเห็น ติดตามโครงการ และประเมินผล
- หลังจากนั้นอีก 4 เดือน ทีมงานจะเดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนครูที่ดูแลกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ติดตามโครงการ และประเมินผลเป็นรอบสุดท้าย
แก้ไขล่าสุด : 30 ต.ค. 2563, เวลา 16:06