เขตสุขภาวะมัสยิดครบวงจร
สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการมัสยิดครบวงจร เมื่อประมาณ ปี 2552 เกิดขึ้นด้วยพันธกิจของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ด้วยความหวังที่ต้องการเห็นสังคมมุสลิม ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ เน้นกระบวนการเรียนรู้ ผ่านผู้นำองค์กรในพื้นที่ สร้างแนวร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนสังคมมุสลิมให้มีสุขภาวะที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยยึดหลักศาสนาและการสร้างกลไกทางสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมมุสลิมไทย นำไปสู่การพัฒนามัสยิดและชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ในทุกมิติ
คำว่า “มัสยิดครบวงจร” หมายถึง มัสยิดที่มีคุณสมบัติอย่างน้อย 5 ใน 8 ดัชนีชี้วัด ดังนี้ คือ
- ต้องเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่
- มีคุฎบะฮฺที่สอดแทรกเนื้อหาต้านยาสูบ หรือกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่
- มีกองทุนต่างๆ เพื่อดูแลมัสยิดและช่วยเหลือชุมชน
- มีภูมิทัศน์ดี สะอาด น่าอยู่ เหมาะสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ
- ระบบบริหารจัดการดี โปร่งใส ชุมชนมีส่วนร่วม
- มีมุมให้ความรู้ หรือห้องสมุด
- มีห้องน้ำสะอาด และสิ่งอำนวนความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ/ผู้พิการ
- มีมาตรการและการจัดการด้านการรักษาความสะอาด
จากการดำเนินงานโครงการมัสยิดครบวงจรที่ผ่านมา จำนวนกว่า 220 มัสยิด ทั่วประเทศ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์นี้ โดยได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน สาธารณสุข เทศบาล เจ้าหน้าที่กลุ่ม อสม. และได้มีการพัฒนางานวิจัยสนับสนุนการดำเนินโครงการ รวมทั้งมีการถอดบทเรียนจากโครงการ จัดทำ “คู่มือมัสยิดครบวงจร” เพื่อเป็นแนวทางในการขยายเครือข่ายมัสยิดครบวงจรที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการมัสยิด ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เน้นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะตามหลักการของอิสลาม ผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจในคำสอนอิสลามที่เกี่ยวกับสุขภาวะ โดยมองว่าความเป็นอยู่ของสังคมมุสลิมในปัจจุบัน ล้วนเสี่ยงต่อปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ ปัญหาการสูบบุหรี่และยาสูบ ที่เกิดจากผู้สูบโดยตรงและการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับผู้ที่สูบ เพื่อให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่หนีภาษี และผลิตภัณฑ์ยาสูบราคาถูก ให้มากขึ้น และทำกิจกรรมที่จะช่วยให้สามารถลด ละ เลิกสูบบุหรี่ได้ ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ ในการดำเนินงานเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ภายใต้โครงการ “เขตสุขภาวะมัสยิดครบวงจร” ในการขยายเขตพื้นที่สุขภาวะ 50 เมตร รอบมัสยิด เพื่อสร้างค่านิยมขยายพื้นที่ไม่สูบบุหรี่ลงสู่ร้านค้า
โดยการดำเนินโครงการจะให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมยาสูบ เพื่อให้กฎหมายการจัดเขตปลอดบุหรี่ สามารถบังคับใช้ได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยเลือกพื้นที่ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ
แก้ไขล่าสุด : 3 ส.ค. 2561, เวลา 00:00