สัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่

จัดกิจกรรมให้ความรู้และสันทนาการเพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ให้กับเด็กระดับประถมตระเวณไปตามโรงเรียนต่างๆ

โครงการสัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่

หากจะลดอัตราการสูบบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและมีความสัมพันธ์กับปัญหา กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนโดยเฉพาะเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ถึงแม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ แต่เด็กหลายคนมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ และเด็กซึ่งหมายถึงลูกที่มีพ่อหรือพี่ชายหรือคนอื่นๆ ในบ้านที่สูบบุหรี่ จากข้อมูลครัวเรือนไทยกว่า 20.5 ล้านครัวเรือน พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีผู้สูบบุหรี่ 0.55 คนต่อ 1 ครัวเรือน (กนกวรรณ ยีหวังเจริญ, 2555) การมุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กนักเรียนจึงมีความสำคัญกับความสำเร็จของการรณรงค์เป็นอย่างมาก โครงการ “สัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่” จึงเน้นไปที่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนให้เด็กนักเรียนระดับประถมทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนเป็นสื่อพาเลิกบุหรี่ให้กับคนในครอบครัวโดยมีครูคอยดูแลให้คำแนะนำ

โครงการ “สัญจรโรงเรียนพาเลิกบุหรี่” เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้และสันทนาการเพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ให้กับเด็กระดับประถมตระเวณไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีความคาดหวังให้เด็กๆ เป็นสื่อกลางนำความรู้และทักษะที่ได้ไปสร้างความเข้าใจกับคนในครอบครัวโดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ จนสามารถสร้างและใช้มาตรการจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่หรือเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสร้างเครือข่ายอาสามัครเด็กนักเรียนพาเลิกบุหรี่ที่จะช่วยสร้างครอบครัวปลอดบุหรี่
  2. เพื่อพัฒนาสื่อรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในโรงเรียนประถม

การดำเนินงาน ใช้กระบวนการเปิดรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนประถมในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย 40 แห่ง โดยเน้นในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา โดยอย่างน้อย 20 แห่ง ต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ ดำเนินงานระดับอำเภอจาก 3 โครงการของแผนงานฯ คือ

  1. โครงการเยาวชนนอกระบบใส่ใจสุขภาวะ
  2. โครงการเขตสุขภาวะมัสยิดครบวงจร
  3. โครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน

ซึ่งประกอบด้วย

จังหวัดปัตตานี 11 โรงเรียน (ในอำเภอเมือง อำเภอมายอ และอำเภอหนองจิก) จังหวัดยะลา 6 โรงเรียน (ในอำเภอเมือง) จังหวัดนราธิวาส 7 โรงเรียน (ในอำภอเมือง อำเภอบาเจาะ และอำเภอสุไหงปาดี) จังหวัดสงขลา 8 โรงเรียน (ในอำเภอหาดใหญ่ อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอเมืองสงขลา) จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ 1 โรงเรียน เขตจังหวัดในภาคกลาง 7 โรงเรียน (ในพื้นที่ดำเนินการโครงการต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ 4 แห่ง นอกพื้นที่ 3 แห่ง)

 

วิธีการดำเนินงาน

เน้นให้ทั้งเด็กและครู มีส่วนร่วม โดยเฉพาะส่วนนโยบาย (โรงเรียน) ที่ต้องเอาจริงเอาจังด้วย โครงการนี้ยึดหลักของการสร้างความรู้เชิงตระหนัก มีนักเรียนและครูเป็นตัวกลางนำความรู้เคลื่อนที่ไปยังคนในครอบครัว โดยหวังว่าความใกล้ชิด ความเป็นพี่น้อง สายสัมพันธ์ในครอบครัว สามารถจูงใจให้มีการปรับเปลียนพฤติกรรมไปสู่การลดและเลิกบุหรี่ของคนในครอบครัวได้ ซึ่งแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย

  1. ผลิตสื่อ เริ่มจากกระบวนการคิดเนื้อหา (Content) ที่เหมาะสมสำหรับสื่อสารกับนักเรียน แจกจายให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำกลับไปสื่อสารกับครอบครัวที่บ้าน นอกจากนี้ยังมอบสื่อบางส่วนไว้กับทางโรงเรียนเพื่อใช้ในการจัดนิทรรศการให้ความรู้กับนักเรียนต่อไป
  2. อบรมทีมงาน รับสมัครทีมงานสำหรับทำกิจกรรมสัญจรโรงเรียน อบรมทีมงานเน้นให้ความรู้เรื่องบุหรี่ ทักษะการเล่นกิจกรรมกับเด็กๆ รายละอียดเป้าหมายของโครงการ การจัดเตรียมข้อมูลและการเก็บข้อมูลโรงเรียน รวมถึงเทคนิคการเชิญชวนคนเลิกบุหรี่
  3. กระจายสื่อ สื่อส่วนใหญ่จะใช้กับเด็กนักเรียนโดยใช้ในกิจกรรมให้ความรู้และแจกให้เด็กนำกลับบ้าน ส่วนหนึ่งให้ทางโรงเรียนสำหรับใช้ในการเสริมความรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการและสำหรับจัดนิทรรศการตามความเหมาะสม
  4. ประเมินและติดตามผล

แก้ไขล่าสุด : 26 ธ.ค. 2561, เวลา 00:00


มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่