แผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบมุสลิมไทย

ชุดโครงการที่จะช่วยให้มุสลิมไทยลดอัตราการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ผ่านยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบและสื่อสารต้านยาสูบ

แผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบมุสลิมไทย

รายงานสำมะโนประชากรมุสลิมไทย (มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย, 2553) ซึ่งใช้ข้อมูลดิบจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าประเทศไทยมีประชากรมุสลิมไทยจำนวน 3,260,111 คน ในปี 25531 โดยแยกเป็นชายร้อยละ 49.47 และหญิงร้อยละ 50.53 ส่วนมาก (ประมาณร้อยละ 44) อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รองลงมาคือในส่วนอื่นๆ ของภาคใต้ประมาณร้อยละ 34 ที่เหลือร้อยละ 11.75  หรือประมาณ 400,000 คนอยู่ในกรุงเทพฯ อีกร้อยละ 8.61 หรือเกือบ 300,000 คนอยู่ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นของภาคกลาง และประมาณ 100,000 คนในภาคเหนือและภาคอีสาน มุสลิมไทยในแต่ละพื้นที่มีภูมิหลังทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของมุสลิมไทยด้วยหลายดัชนีทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ชี้ว่า มีทั้งที่ดีกว่าและด้อยกว่าประชากรไทยโดยทั่วไป

โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ในกรณีของพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในมุสลิมไทย พบว่า มุสลิมไทยมีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยาสูบมากกว่าครัวเรือนไทยทั่วไป (ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับร้อยละ 0.43) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2556-2558 พบว่า ค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบของครัวเรือนมุสลิมไทยลดลง 33 บาท/เดือน ซึ่งมากกว่าครัวเรือนไทยโดยทั่วไปที่ลดลง 20 บาท/เดือน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการดำเนินงานเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในมุสลิมไทยในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จยังไม่ถึงระดับที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยรวม มีอัตราการบริโภคยาสูบร้อยละ 19.9 แต่ผู้นับถือศาสนาอิสลามมีอัตราการบริโภคยาสูบ ร้อยละ 25.2 ในขณะที่ผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ มีอัตราการบริโภคยาสูบร้อยละ 19.6 จึงเห็นได้ว่าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมีอัตราการบริโภคยาสูบสูงกว่าศาสนาอื่น ๆ และภาพรวมของประเทศ

ดังนั้น การทำให้อัตราการบริโภคยาสูบในกลุ่มมุสลิมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม และดีกว่าประชากรกลุ่มอื่น จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยโดยรวมได้ ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2550 ถึง 2559 การบริโภคยาสูบของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี การควบคุมการบริโภคยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบจึงเป็นปัญหาสุขภาวะที่สำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย

ด้วยเหตุนี้ แผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบมุสลิมไทย ได้ยึดหลักการดำเนินงานที่สอดคล้องกับทิศทางเป้าหมาย 3 ปี (2561-2563) ของสำนักประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9 สสส.)  ที่ต้องการให้การเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของมุสลิมไทยในพื้นที่ดำเนินการ เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยโดยรวม2 เป้าหมายหลัก คือต้องการเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของมุสลิมไทยในพื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา) เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยโดยรวม ทั้งนี้ โดยอิงกับอัตราการบริโภคยาสูบของประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ที่ไม่ดื่มสุรา) ที่ลดลงร้อยละ 0.5 ในระหว่างปี 2550 ถึง 25543

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แผนงานควบคุมยาสูบในมุสลิมไทย จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ใช้สื่อปูพรมความรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายของการบริโภคยาสูบ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ทุกประเภทและผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ โดยเน้นการให้ความรู้จากบุคลากรทางการแพทย์ และการให้ความรู้ผ่านมัสยิดและสถานศึกษา
  2. ใช้การฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมาย คือ ภรรยาและบุตรของผู้นำศาสนาและบุคลากรครู ตลอดจนเยาวชนนอกระบบ ให้ตระหนักมากยิ่งขึ้นในอันตรายของการบริโภคยาสูบที่บ้านที่นอกจากจะเกิดกับตัวผู้สูบเองแล้วยังเกิดกับคนในครอบครัว ทั้งนี้รวมถึงการย้ำให้เห็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจในรูปค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบ และค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  3. ส่งเสริมบทบาทนำของภรรยาและบุตรของผู้นำศาสนาและบุคลากรครู และเยาวชนนอกระบบ ที่จะผลักดันให้เกิดเวทีประชาคมและคณะทำงานชุมชนในการร่วมกันขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในระยะยาว การปกป้องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะการไม่สูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิด และในรัศมี 50 เมตร รอบมัสยิด
  4. สร้างต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ และต้นแบบมัสยิดครบวงจรที่จะเป็นตัวอย่างให้มัสยิดอื่นศึกษาเรียนรู้แนวทางในการควบคุมการบริโภคยาสูบและการปกป้องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่
  5. มีกระบวนการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการลด ละ และเลิกการบริโภคยาสูบ และยกย่องให้เป็นแบบอย่าง
  6. มีความร่วมมือกับองค์กรศาสนา และองค์กรอื่น เช่น เภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ (ด้านเทคนิคให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (ด้านสื่อ และวิทยากร) หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ (ด้านวิทยากร และการดำเนินงานในระดับพื้นที่)

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ของแผนงานควบคุมยาสูบในมุสลิมไทยคือ อัตราการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ของมุสลิมไทย ไม่มากกว่าอัตราการบริโภคบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ของคนไทยโดยทั่วไป

วัตถุประสงค์

เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาวะแก่ประชากรกลุ่มเฉพาะมุสลิมไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดของ สสส. และสำนัก 9 ภายใต้แนวทางการดำเนินการโดยยึดหลักการศาสนาอิสลาม แผนงานฯ นี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ

  1. เพื่อสร้างเครือข่ายครอบครัวมุสลิมไทยที่มีสตรีและบุตรเป็นแกนนำในการควบคุมการบริโภคยาสูบภายในครอบครัว
  2. เพื่อรวบรวมเครือข่าย สสม. (ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำสตรี และผู้นำยุวชน) เข้าร่วมในการควบคุมยาสูบ
  3. เพื่อให้สังคมมุสลิมไทย โดยเฉพาะครอบครัว ตระหนักในความสูญเสียจากการบริโภคยาสูบมากยิ่งขึ้น และเห็นความจำเป็นต้องควบคุมทั้งอุปสงค์ และอุปทานของยาสูบ ในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่

ยุทธศาสตร์ของแผนงานฯ ในการควบคุมการบริโภคยาสูบมุสลิมไทยประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ 1 ควบคุมยาสูบ
  • ยุทธศาสตร์ 2 สื่อสารต้านยาสูบ

 


1 ประมาณ 3.745 ล้านคน ในปี 2560
2 การเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ของมุสลิมไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรรวม เช่น อัตราการลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรรวมเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 0.5 มุสลิมไทยต้องมีอัตราการลดลงของการอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าร้อยละ 0.5
3 รายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า อัตราการสูบบุหรี่ (ไม่ดื่มสุรา) ของประชากรไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 6.1 ในปี 2554 ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่โดยรวม (ทั้งที่ดื่มและไม่ดื่มสุรา) คงที่ที่ร้อยละ 21.3


แก้ไขล่าสุด : 4 ก.พ. 2562, เวลา 16:09


มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่