กระตุ้นบทบาทครอบครัวและชุมชน

กระตุ้นบทบาทครอบครัว และชุมชน ด้วยการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ และขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการกระตุ้นบทบาทครอบครัว และชุมชน

(เพื่อขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบ)

โครงการนี้ จะเน้นการกระตุ้นบทบาทครอบครัว และชุมชน ด้วยการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ และขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้สุด ซึ่งมุสลิมไทยมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าประชากรไทยโดยทั่วไป โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพ ผ่านการอบรมหลักสูตรสร้างศักยภาพต้านภัยบุหรี่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. กลุ่มเยาวชนนอกระบบ (หลักสูตรย่อย “นักรณรงค์ชุมชนปลอดบุหรี่”) ในแต่ละพื้นที่ ให้มีความรู้เรื่องบุหรี่อย่างหลากหลายมิติ  สร้างเครือข่ายการทำงานและยกระดับเยาวชนกลุ่มนี้ให้เป็นนักรณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ 50 เมตร โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการขับเคลื่อน เยาวชนจะผ่านกระบวนการเรียนรู้เทคนิคและวิธีการประสานการทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาคณะกรรมการประจำมัสยิด และผู้นำชุมชน การผลักดันให้เกิดเวทีประชาคมและคณะทำงานชุมชนในการร่วมกับขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในระยะยาว การมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังให้เกิดสภาพแวดล้อมมัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ และในรัศมี 50 เมตร รอบมัสยิด
  2. กลุ่มภรรยาและบุตร (หลักสูตรย่อย “นักรณรงค์ครอบครัวเลิกบุหรี่”) ที่มีสถานะเป็นภรรยาและบุตรของผู้นำศาสนา ครู อุสตาซ  จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทนำ โดยเฉพาะสถานะภาพความเป็นบุตรที่มีอิทธิพลในการควบคุมพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในกลุ่มผู้นำศาสนา การอบรมจะเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ความตระหนักยิ่งขึ้นในอันตรายของการบริโภคยาสูบที่บ้าน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้สูบแล้วยังเกิดกับคนในครอบครัว การเน้นย้ำให้เห็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบ และค่ารักษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการผลักดันให้เกิดเวทีประชาคมและคณะทำงานชุมชนในการควบคุมยาสูบ การปกป้องสิทธิ์ของผู้ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้าน จนมีขีดสมรรถนะที่สามารถจะเป็นนักรณรงค์ครอบครัวปลอดบุหรี่ในชุมชนของตนเองได้ต่อไป
  3. กลุ่มสุดท้าย เน้นการอบรมกลุ่มผู้นำศาสนา อิหม่าม กรรมการมัสยิด และผู้นำชุมชน รวมถึงภรรยาและบุตร (หลักสูตรย่อย “ปลุกพลังขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะ”)ให้สามารถสร้างกลไกขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะภายในมัสยิดและรอบมัสยิด ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษและภัยของบุหรี่ และกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ  ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้นำดังกล่าวจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะให้ร้านค้ารอบมัสยิดไม่จำหน่ายบุหรี่ และไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในบริเวณร้านค้าของตน

โดยสรุป การเสริมศักยภาพทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย จะมุ่งเน้นในสามประเด็น คือ การให้ความรู้เรื่องอันตรายของการบริโภคยาสูบที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและคนในครอบครัว การให้ความรู้จิตวิทยาครอบครัวที่ทำให้เกิดแรงจูงในการเลิกบุหรี่  และการให้เทคนิคของการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ที่ทำให้ผู้ติดบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การควบคุมบุหรี่ในครอบครัวประสบความสำเร็จและสามารถขยายผลสู่ส่วนอื่นในวงกว้างต่อไป

 


แก้ไขล่าสุด : 3 ส.ค. 2561, เวลา 00:00


มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่