ความเป็นมา มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
เกิดจากการรวมตัวกันของคณะทำงานแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ด้วยเจตนาที่จะให้การสร้างเสริมสุขภาวะในสังคมมุสลิมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
หลังการทำงานกว่า 5 ปีของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณปลายปี 2551 คณะทำงานของแผนงานฯ (โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ในขณะนั้น) จึงได้รวบรวมเงินทุนเพื่อจดทะเบียนมูลนิธิขึ้น และได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 ในนาม “มูลนิธิสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย”
ต่อมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน คณะกรรมการมูลนิธิ และคณะผู้ก่อตั้งจึงมีความเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)” และได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554
วัตถุประสงค์
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ดำเนินการโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไรแต่อย่างใด (Non-Profit Organization) แต่มุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของสุขภาวะและการพัฒนา เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาวะของสังคมมุสลิมไทย และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสังคมมุสลิมและสังคมไทยทั่วไป
พันธะกิจ
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มีเป้าหมายที่จะร่วมพัฒนาสังคมมุสลิมไทยให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งทางกายและใจ ให้พี่น้องมุสลิมไทยได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ชุมชนมุสลิมสามารถเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบแก่สังคมไทย และนอกจากนี้ยังมุ่งที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้มุสลิมไทยมีความรู้รอบด้าน มีศักยภาพ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้การทำงานทั้งหมดใช้หลักการของอิสลามเป็นทางนำ
คณะผู้ก่อตั้งมูลนิธิ
- รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์
- รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี
- ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ
- นายสุรินทร์ เหมนุกูล
- นายฮาซัน หะยีมะเย็ง
- น.ท.สมคิด ลัทธิศักดิ์
- นายธวัช วงศ์อนันต์
- นายวีระ มินสาคร
- นายเอนก พงษ์วิจารณ์
- นายธงชัย กันพันธ์
- นายอัดมัดคาน บุญพันธ์
- นายอาณัติ ศานติศาสน์
- นายเอนก ขันศรีทรง
- นายชุมพล ศรีสมบัติ
- นางสาวอุสนีย์ บุญมาเลิศ
- นางสาวกัลยาณา วาจิ
- นางสาวกรรณทิมา หมื่นระย้า
- นางสาวพยานรัก ฟูชื่น
- นางสาวอาซีซะห์ อับดุลเลาะ
- นางสาวปาซียะห์ แวกือจิ
- นายดลหมาน พันหวัง
- นางผกามาศ ยอดดนตรี
- นางสาวแวนีดา แวดาโอะ
- นายปฏิญญา ประพฤติชอบ
- นางสาวฮาลีเมาะ ยูโกะ
- นางสาวสุปรีดา อับดุลเลาะ
- นายเชษฐา มะมัย
- นายซัยฟุตดีน เหร็มอ่ะ
คณะกรรมการมูลนิธิชุดแรก
- รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานกรรมการ
- นายเอนก ขันศรีทรง รองประธานกรรมการ
- นายวีระ มินสาคร กรรมการและเหรัญญิก
- นายเอนก พงษ์วิจารณ์ กรรมการและเลขานุการ
ต่อมา นายอเนก ขันศรีทรง ลาออก นายสุรินทร์ เหมนุกูลจึงเข้ารับตำแหน่งรองประธาน และ น.ท.สมคิด ลัทธิศักดิ์ เป็นกรรมการ เพื่อให้มูลนิธิสามารถส่งต่อการบริหารงานสู่คนรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าของการทำงานเพื่อสังคม นางสาวอุสนีย์ บุญมาเลิศ และนางสาวกัลยาณา วาจิ จึงได้รับเลือกให้เป็นกรรมการอีกสองท่าน ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ อยู่ในวาระได้คราวละ 5 ปี
แนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิโดยย่อเป็นดังนี้
งานสร้างเสริมสุขภาวะ
สสม.เริ่มต้นจากการสร้างเสริมสุขภาวะแก่มุสลิมซึ่งถือเป็นกลุ่มด้อยโอกาสของสังคมไทย งานของ สสม.ในระยะแรกจึงมุ่งไปที่การสร้างโอกาสแก่มุสลิมไทยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีอิสลาม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการหลักของ สสม.ประกอบด้วย การรวบรวมองค์ความรู้อิสลามกับการสร้างเสริมสุขภาวะและการสร้างองค์ความรู้ปัญหาสุขภาวะมุสลิมไทย การพัฒนาปัจจัยเปลี่ยนแปลง (ผู้นำ มัสยิด และชุมชน) ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาสุขภาวะ และการสร้างกระแสความตระหนักในปัญหาสุขภาวะในสังคมมุสลิมไทย
ทุนการศึกษา
สสม. เห็นความสำคัญของการทรัพยากรมนุษย์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมุสลิมไทย จึงได้จัดตั้งกองทุนการศึกษา และจัดสรรทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องไว้ 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับมัธยมศึกษา ทุนละ 8,000 บาท/คน
- ระดับอาชีวศึกษา ทุนละ 10,000 บาท/คน
- ระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) ทุนละ 12,000 บาท/คน
กองทุนบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน
สืบเนื่องจากอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นที่ประเทศปากีสถาน เมื่อปลายปี 2553 ซึ่ง สสม.ได้มีส่วนในการประสานความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปากีสถานที่ประสบภัย และต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ที่สร้างความเสียหายอย่างมาก สสม. และเครือข่าย พันธมิตร ก็ได้มีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุน รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว สสม. ตระหนักว่าภัยพิบัติต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดเดาได้ และผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน จึงได้จัดตั้งกองทุนบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน (Emergency Relief Fund) ขึ้น เพื่อรวบรวมเงินบริจาคจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเตรียมไว้สำหรับให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
มองไปข้างหน้า
นอกจากงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว สสม.ยังมีแผนงานที่จะทำต่อไปในระยะยาว เช่น การจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม (หรือโรงเรียนผู้นำตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน) สถาบันวิจัย เครือข่ายการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เช่น อนานาส
แก้ไขล่าสุด : 19 ต.ค. 2563, เวลา 16:24