สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่

#สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อน #มัสยิดปลอดบุหรี่_90แห่ง_ใน_5จังหวัดชายแดนใต้ หนุนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ลดสูบ-ลดป่วยจากบุหรี่ ชี้คนสูบบุหรี่ในศาสนสถานสูง 21%

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ที่โรงแรมญันนะตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา #สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ #มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย #มูลนิธิคนเห็นคน #สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ #มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และ #ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้

โดย ดร. #สุปรีดา_อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 22.4% โดย #จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด_5ลำดับแรกล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และยังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะศาสนสถานในทุกศาสนามากถึง 21% ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี

“สสส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะการลดปัญหายาสูบในพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำการควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ และภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน” ดร. #สุปรีดา กล่าว

ศ.ดร. #อิศรา_ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า มัสยิด ถือเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม จึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ จึงได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. มากว่า 10 ปี ได้พัฒนาให้เกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็น “ #มัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน” โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ 1.พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร 2.มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร 3.มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา 4.มีเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ 5.มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด ซึ่งจะทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมีสุขภาวะที่ดี ปลอดโรคที่เกิดจากบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ

#นายอีซา_มูเก็ม ตัวแทนมัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะห์ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หนึ่งในมัสยิดต้นแบบปลอดบุหรี่ กล่าวว่า มัสยิดฮาลีมาตุสสะดียะฮ์ ได้พัฒนาเป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ 100% กรรมการของมัสยิดสามารถเลิกสูบบุหรี่ถาวรได้ 6 คน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนในมัสยิดและชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลส่งเสริมการลด ละ เลิกบุหรี่ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าบริเวณโดยรอบ 50 เมตรจากมัสยิด ไม่มีการขายบุหรี่ 5 ร้านค้า และมีชุมชนร่วมโครงการลด ละ เลิกสูบบุหรี่กับมัสยิด 3 แห่ง คนในชุมชนมากกว่า 50% สามารถลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้ ทั้งนี้ การร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ จะเพิ่มเติมมาตรการให้เข้มข้นขึ้น โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องอันตรายของยาสูบในช่วงการละหมาดทุกวันศุกร์ และส่งเสริมการให้คำปรึกษาช่วยเลิกบุหรี่

โครงการ : ชุมชนสดใสไร้ยาสูบ

แก้ไขล่าสุด : 17 ส.ค. 2566, เวลา 14:19


กิจกรรมอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่