สมุนไพรรักษาโรคช่วงน้ำท่วม
กัลยานา
ฉบับนี้ขอแนะนำอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วม ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการใช้สมุนไพรที่สามารถหาได้ทั่วไปรอบรั้วบ้านเรา ช่วยรักษาอาการเบื้องต้นที่เกิดขึ้นได้ เช่น
เปลือกมังคุด เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้า โดยใช้เปลือกมังคุดทาบริเวณที่เป็นแผลน้ำกัดเท้า อาการอักเสบและแผลก็จะค่อยๆหายไป โดยใช้ทาวันละหลายๆครั้ง หรือใช้ผลหมากดิบ โดยนำผลหมากดิบ 1 ผลเอาเนื้อมาปิ้งไฟแล้วนำมาวางบนแผลน้ำกัดเท้าได้ทันที สามารถทาซ้ำได้หลายๆครั้ง ทำ 2-3 วันอาการก็จะหายไป หรือจะใช้ยางต้นสีเสียดลาว วิธีการรักษาใช้ยางที่ได้จากแก่นต้นมา 1 ก้อน นำมาฝนกับน้ำปูนใสจนมีลักษณะเหนียวข้น นำมาทาบริเวณที่เป็นแผลน้ำกัดเท้า ทาบ่อยๆวันละหลายๆครั้ง จนกว่าแผลจะหาย
ใบพลู เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการผื่นคัน เนื่องจากเกิดลมพิษ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคกลากเกลื้อน ฮ่องกงฟุต แผลอักเสบ ฝีหนอง รักษาอาการช้ำบวม รักษาอาการปวดท้อง รักษาอาการไอเจ็บคอ ขับเสมหะ และสิว โดยการใช้น้ำคั้นจากใบพลูสดรักษาอาการเหล่านี้ได้ หรือ ใช้ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณ แก้ผื่นคัน แก้ไข้เรื้อรัง ผอมเหลือง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม ขับกลิ่นและสิ่งสกปรกในร่างกาย คุมธาตุ หรือแม้แต่นำมาหยอดตาแก้ตาบวม ตาแดง โดยการนำน้ำคั้นจากเหง้าสดทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง หรือนำผงขมิ้น(นำเหง้าบดเป็นผง)เคี่ยวกับน้ำมัน ทำน้ำมันใส่แผลสด หรือจะนำขมิ้นสดโดยใช้เหง้าสดล้างให้สะอาดตำกับดินประสิวเล็กน้อยผสมกับน้ำปูนใส พอกบาดแผลและแก้เคล็ดขัดยอก หรือนำเหง้าเผาไฟตำกับน้ำปูนใสรับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด
โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อที่มักจะมีช่วงฝนตกหนัก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะนำน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนมาล้างหน้า จึงทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียที่ตา และสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้แก้โรคตาแดง คือ ทองกวาว สมอพิเภก ทองหลางน้ำ ข่าและขมิ้น
เราใช้ดอกทองกวาว แก้ไข้ ขับปัสสาวะ และสามารถนำมาหยอดตาแก้ตาแดงได้ แก่นใช้ทาแก้ปวดฟัน ใบ นำมาตำพอกฝี รักษาสิว ถอนพิษ แก้ปวดท้องขึ้น และริดสีดวง รากใช้ประคบบริเวณที่เป็นตะคริว และสามารถขับพยาธิได้ หรือนำรากมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาว ทาแก้คันและแสบร้อน ยางแก้ท้องร่วง เมล็ดใช้ขับพยาธิตัวกลม
ทั้งนี้ สมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้น สามารถที่จะนำมารักษาอาการเบื้องต้นเท่านั้น ถ้ามีอาการเรื้อรังหรือรักษาไม่หายก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการต่อไป
ข้อมูล
สุขสาระ มกราคม 2554
แก้ไขล่าสุด : 23 พ.ค. 2562, เวลา 12:40