ภาวะเตี้ยของเด็ก

ปัจจุบันปัญหาการเจริญเติบโตที่พบบ่อยในเด็กมีทั้งภาวะตัวเตี้ย มีการเจริญเติบโตช้า โดยพบความชุกของภาวะโรคเตี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1-5 หรือในเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ 1-5 คน

ภาวะเตี้ยของเด็ก 

ปัจจุบันปัญหาการเจริญเติบโตที่พบบ่อยในเด็กมีทั้งภาวะตัวเตี้ย มีการเจริญเติบโตช้า โดยพบความชุกของภาวะโรคเตี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1-5 หรือในเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ 1-5 คน ทั้งนี้ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้ากว่าอัตราปกติทั้งน้ำหนักและส่วนสูง โดยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก     

ในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาว เด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 7-9 ซม./ปี แต่โดยเฉลี่ย 5 ซม./ปีและเด็กชายเติบโตน้อยกว่า 8-10 ซม./ปี ผู้ปกครองควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด   

การจะสังเกตว่าเด็กตัวเตี้ยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะความสูงและลักษณะรูปร่างของพ่อแม่ บวกกับการติดตามดูกราฟการเจริญเติบโตของเด็ก ว่ามีการเพิ่มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของวัยหรือไม่ ไม่ใช่ประเมินจากการเทียบส่วนสูงกับเด็กๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งถ้าหากพ่อแม่เป็นคนรูปร่างเตี้ยอยู่แล้ว เด็กก็มีแนวโน้มที่เป็นคนตัวเตี้ย แต่หากเด็กที่เคยมีประวัติการเจริญเติบโตปกติดี แต่ส่วนสูงเกิดการหยุดชะงักหรือเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยที่มีภาวะโภชนาการปกติดี นั่นอาจมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนการเจริญเติบโตภายในร่างกายเด็ก      

ซึ่งหากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ เพื่อทำการรักษาแก้ไขให้เด็กตัวสูงขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสูง ประกอบด้วย

1. ยีนหรือพันธุกรรม ยีนที่ควบคุมความสูงมีหลายยีน และเด็กที่มีพ่อแม่สูงหรือร่วมกับปู่ย่าตายายสูง ลูกมักจะสูง ในทางตรงข้ามเด็กที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดเตี้ยเด็กคนนั้นก็มักจะเตี้ย แต่เนื่องจากลูกแต่ละคนได้รับถ่ายทอดยีนจากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น พ่อแม่เดียวกัน มีลูกหลายคน ลูกก็อาจสูงไม่เท่ากัน

2. ฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตในวัยเด็ก คือฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งทำให้มีการขยายตัวของกระดูกเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น

3. ฮอร์โมนเพศ ในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กจะมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเพศกระตุ้นการหลั่งเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนการเจริญเติบโต และทำให้มีการพัฒนาของกระดูกและเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวสักระยะหนึ่งแล้ว ฮอร์โมนเพศจะทำให้กระดูกปิด และหยุดการเจริญเติบโต

4. อาหารการกิน สารอาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก การกินอาหารครบหมู่ช่วยให้ได้รับพลังงาน โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี และอื่นๆ มีผลต่อการเจริญเติบโต การขาดพลังงาน โปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ทำให้การเจริญเติบโตช้า สารอาหารหลักที่มีผลต่อการสร้างเสริมกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดี มีความสำคัญต่อความสูงเช่นกัน

5. การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต แต่การออกกำลังกายในเด็กที่มากและหนักเกินไปจะกดการเจริญเติบโตทำให้ตัวเล็กแกร็น โดยเฉพาะเด็กที่ผอมมากเพราะกินน้อยแต่ออกกำลังมากเกินไป การออกกำลังกายชนิดลงน้ำหนัก เช่น การกระโดด บาสเก็ตบอล ช่วยให้มวลกระดูกเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะทำให้เด็กตัวสูงมากกว่าการออกกำลังกายชนิดอื่น แต่มีข้อเสียในเด็กอ้วนคือจะมีแรงกดต่อหัวเข่าด้านในมาก ทำให้เกิดอาการขาโก่ง

6. การนอนหลับมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต จึงแนะนำให้เด็กนอนหลับสนิทให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี

เด็กที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตจะมีอาการเติบโตช้า อัตราการเจริญเติบโตน้อยไปกว่าค่าปกติดังกล่าวข้างต้น เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ ในเด็กผู้ชายอาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป บางรายที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตชนิดรุนแรงจะพบว่ามีโอกาสมีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้เด็กชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย เด็กที่ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน นอกจากจะทำให้เด็กเตี้ยแล้วในบางรายจะมีพัฒนาการช้าร่วมด้วย นอกจากนั้นเด็กที่ขาดฮอร์โมนเพศ เนื่องมาจากความผิดปกติของรังไข่ในเด็กหญิง หรือ ความผิดปกติของอัณฑะในเด็กชายก็เป็นเหตุให้เด็กเจริญเติบโตช้าในระยะเข้าสู่วัยรุ่นได้

เด็กเตี้ยอาจจะมีเหตุจากโรคบางชนิดที่มีฮอร์โมนมากเกินไป ได้แก่ โรคของต่อมหมวกไตซึ่งสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์มากเกินไปเป็นสาเหตุทำให้เด็กเตี้ยแต่อ้วนได้ สำหรับเด็กที่ได้รับยาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะการได้รับยาที่มีสเตียรอยด์มากเกินไปจะเป็นเหตุให้เด็กเตี้ยได้

พ่อแม่ควรดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบถึงภาวะผิดปกติที่เกิดได้แต่เนิ่นๆ จะได้ปรึกษาแพทย์และหาทางดูแลรักษาได้ทันท่วงที หากพาเด็กที่สงสัยว่าเตี้ยจากการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโตไปพบแพทย์ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น การรักษาจะได้ผลดีกว่ารอเมื่อเด็กโตแล้ว

 

ข้อมูล –

http://www.rakluke.com/article/5/19/401

http://www.thaihealth.or.th/Content/34624-

สุขสาระ กุมภาพันธ์ 2560

 

Tags : all ร่างกาย สุขภาพ

แก้ไขล่าสุด : 18 ก.ค. 2562, เวลา 10:10


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่