โรคซึมเศร้า
"โรคซึมเศร้า" ถือเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการก็คือ ความเครียด มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมีที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่อยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้มีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
โดยทั่วไปโรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้เหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างไร
การป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจะทำให้คุณรู้สึกเพลีย รู้สึกไร้ค่า เหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหวัง ความคิดในแง่ลบกับตนเองในแบบนี้ มักจะทำให้ผู้ป่วยบางคนท้อถอยและยอมแพ้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบว่าความคิดหรือความรู้สึก เหล่านี้เป็นเพียงแค่อาการของโรค มิได้สะท้อนเรื่องจริงในชีวิตแต่อย่างใด ความคิดเหล่านี้จะค่อยๆหมดไปเมื่อเริ่มต้นการรักษาไปสักระยะหนึ่ง
ในระหว่างนี้ควรจะ
- อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน
- อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ
- พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้
- อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือการสร้างความล้มเหลว
- ร่วมกิจกรรมที่ช่วยให้เพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิด ถ้ามันไม่ช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง
- อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาผู้อื่นที่รู้จักเราดีและ มีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยจะดีขึ้น
- อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ “ลัดนิ้วมือเดียว” เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ
- พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรค และจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น
โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด
ตรวจสอบด้วยตนเองว่า คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
- รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
- ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
- น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
- รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
- อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
- กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
- คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย
ถ้าหากคุณมีอาการต่อไปหลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็นโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรมาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
สุขสาระ กรกฎาคม 2560
แก้ไขล่าสุด : 9 ก.ย. 2562, เวลา 23:08