อุทาหรณ์สำหรับคอกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม

เรื่องเริ่มต้นที่เด็กหนุ่มวัย 16 จากสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง ที่ร่างกายแข็งแรง เสียชีวิต เพราะดื่มกาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลังภายในเวลา 2 ชั่วโมง ทางการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ

อุทาหรณ์สำหรับคอกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม

เรื่องเริ่มต้นที่เด็กหนุ่มวัย 16 จากสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง ที่ร่างกายแข็งแรง เสียชีวิต เพราะดื่มกาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลังภายในเวลา 2 ชั่วโมง

หน่วยงานด้านนิติเวชของสหรัฐฯ เปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของหนุ่มวัยรุ่นอายุ 16 ปีคนหนึ่ง ที่จู่ๆก็หมดสติกลางห้องเรียนและเสียชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ

ผลการชันสูตรพบว่า เด็กหนุ่มเสียชีวิตจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะกาเฟอีน ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการ หัวใจอาจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสมอง หัวใจและอวัยวะอื่นๆ ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต

รายงานระบุว่าวัยรุ่นชายคนนี้ดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนถึง 3 ชนิดภายในช่วงเวลาเพียง 2 ชั่วโมง โดยดื่มกาแฟลาเต้ในเวลา 12.30 น. ของวันที่ 26 เม.ย. จากนั้นจึงดื่มเครื่องดื่มอัดลมประเภทไร้น้ำตาลยี่ห้อหนึ่ง ตามด้วยเครื่องดื่มชูกำลัง ก่อนที่เขาจะหมดสติกลางห้องเรียนในเวลา 14.30 น. และถูกประกาศว่าเสียชีวิตในเวลา 15.40 น.

มีคนมากมายดื่มกาแฟทุกวัน วันละหลายๆ แก้ว หลายคนยืนยันว่ากาแฟไม่เคยสร้างปัญหาให้เลยสักครั้ง ดื่มแล้วก็สดชื่น หูตาสว่าง ความคิดแจ่มใส แต่อีกหลายคนเหมือนกัน ที่มีปัญหาจากสารกาเฟอีน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแต่ละคน มีประสาทสัมผัสไวต่อสารแต่ละตัวไม่เหมือนกัน

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ากาเฟอีนมีอยู่เฉพาะในชาและกาแฟเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วกาเฟอีนยังเป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำอัดลมที่ผลิตจากเมล็ดโคล่า รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารหรือขนมที่ใช้ ชา กาแฟ โกโก้ และโคล่าเป็นส่วนผสมอยู่ ก็จะมีสารกาเฟอีนรวมอยู่ด้วย เช่น ลูกอมรสกาแฟ ลูกอมรสช็อกโกแลต เค้กช็อกโกแลต เค้กกาแฟ น้ำอัดลมโคล่า รูทเบียร์ และเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ

“เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน” จัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ โดยทั่วไป การขึ้นทะเบียนเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน โดยใช้ขั้นตอนที่เคยใช้มา ไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด ปัจจุบันพบว่าเป็นปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการตลาด และปัญหาจากการโฆษณาเสียมากกว่า อีกประการหนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสินค้ากลุ่มนี้มีการแข่งขันทางด้านธุรกิจที่รุนแรง

กาเฟอีน (caffeine) เป็นสารชนิดหนึ่งที่รู้จักกันมานาน เป็นสารประกอบอัลคาลอยด์มีชื่อทางเคมีว่า 1,3,7 trimethylxanthine มีลักษณะเป็นสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม ละลายได้ดีในน้ำร้อน ละลายได้เล็กน้อยในแอลกอฮอล์ กาเฟอีนพบปริมาณมากในพืชจำพวกชาและกาแฟ ปัจจุบันสินค้าประเภทชาและกาแฟมีให้เลือกมากมายหลายชนิด

เป็นอุตสาหกรรมชั้นนำประเภทหนึ่ง

เมื่อบริโภคเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน กาเฟอีนจะถูกดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี โดยเฉพาะในลำไส้เล็ก จากการศึกษาวิจัยพบว่ากาเฟอีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับกาเฟอีนเข้าไปในขณะท้องว่างหรือกำลังหิว ร่างกายจะดูดซึมกาเฟอีนเข้าไปในเลือดได้เร็วขึ้น คือ ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

กาเฟอีนเมื่อถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายแล้ว จะกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะผ่านเข้าสู่รกไปยังทารก หรือเข้าไปในน้ำนมแม่ได้ ปริมาณการกระจายของกาเฟอีนในร่างกายมีค่าประมาณร้อยละ 40-60 ของน้ำหนักตัว และสามารถพบได้ในสารน้ำทุกส่วนของร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำนม และน้ำตา

กาเฟอีนในร่างกายจะถูกกำจัดอย่างรวดเร็วโดยเอนไซม์ของตับ ซึ่งเผาผลาญกาเฟอีนในร่างกายได้ถึงร้อยละ 95 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ กาเฟอีนไม่ถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกาย

กลไกการเสพติดของสารกาเฟอีนเกิดจากฤทธิ์กระตุ้นสมอง กลไกดังกล่าวเช่นเดียวกับยาบ้า (amphetamines) โคเคน (cocaine) และเฮโรอีน (heroin) หากนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่ากาเฟอีนมีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่ายาบ้า โคเคน และเฮโรอีนมาก ผู้ที่ติดกาเฟอีนจะมีอาการของการเสพติด รู้สึกไม่ค่อยสบาย ไม่มีเรี่ยวมีแรง หากไม่ได้รับหรือบริโภคเข้าไป และมีความต้องการที่จะเสพอีกอย่างมาก การบริโภคกาเฟอีนในปริมาณน้อยจะทำให้รู้สึกมีความตื่นตัว ความคิดฉับไว ไม่ง่วงนอน กระปรี้กระเปร่า รู้สึกมีพลัง ทำงานได้ทนทานและนานยิ่งขึ้น ขนาดของกาเฟอีนที่เริ่มมีฤทธิ์ในการกระตุ้นสมองคือ 40 มิลลิกรัมขึ้นไป

ปัจจุบันในวงการธุรกิจ มักจะเรียกเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนว่า "เครื่องดื่มชูกำลัง" แสดงให้เห็นภาพของการเสริมสร้างพละกำลัง เป้าหมายการขายหลักๆก็คือ กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ที่นิยมดื่มกาแฟเป็นเครื่องช่วยให้ดูหนังสืออ่านหนังสือได้ดึกๆ ไม่ให้ง่วงหลับผล็อยไปเสียก่อน อดตาหลับขับตานอน และกลุ่มผู้ที่มีอาชีพขับรถ ก็นิยมบริโภคเพื่อไม่ให้ง่วงและมีเรี่ยวมีแรง สามารถทำงานได้มากๆ แม้ว่าจะรู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้าและง่วงนอน

ปริมาณกาเฟอีนที่ปลอดภัย : สภาพร่างกายของแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณกาเฟอีนที่แตกต่างกัน บางคนดื่มกาแฟ 1 ถ้วยก็อาจทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับได้ ขณะที่บางคนมีความทนทานมากกว่า อย่างไรก็ตามองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้กำหนดปริมาณกาเฟอีนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นั่นก็คือไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับการดื่มกาแฟไม่เกิน 3 ถ้วยต่อวัน

จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรงจากการดื่มกาแฟ พบว่าแทบทุกคนดื่มกาแฟวันละ 10 กว่าถ้วย โดยผู้ป่วยเหล่านี้คิดว่าการดื่มกาแฟหลายถ้วยจะทำให้มีแรงทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วยิ่งดื่มกาแฟมากเท่าไร กาเฟอีนในร่างกายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการดึงพลังงานออกจากตัวมากเท่านั้น เมื่อยิ่งดื่มจึงยิ่งอ่อนเพลีย เมื่อเพลียก็ยิ่งดื่มมากขึ้น หมุนเวียนเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป และเพื่อเป็นการแก้อาการอ่อนเพลีย ควรงดดื่มกาแฟโดยเด็ดขาดเป็นเวลา 2-3 เดือน และหากทำได้อย่างเคร่งครัดอาการอ่อนเพลียก็จะหายไป

กาเฟอีนเปรียบเสมือนยาพิษถ้าหากได้รับมากเกินไป การบริโภคกาเฟอีนในปริมาณเข้มข้นและในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายอาเจียน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนเด็กหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาได้

สุขสาระ กรกฎาคม 2560

Tags : all โรค ร่างกาย อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 21 พ.ค. 2562, เวลา 09:31


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่