เห็ดโคนน้อย

เห็ดโคนน้อย เป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ จึงทำให้เป็นที่นิยมรับประทานและเพาะกันมากขึ้น

เห็ดโคนน้อย  

เห็ดโคนน้อย (เห็ดเจ็ดวัน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โคไพรนัส ไฟมิทาเรียส (Coprinus fimetarrius) จัดอยู่ใน ตระกูลเห็ด (Basidiomycetes) ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลือง หรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก (ภาคกลาง)

เห็ดโคนน้อย เป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ  จึงทำให้เป็นที่นิยมรับประทานและเพาะกันมากขึ้น

เห็ดโคนน้อย มีวิธีการเพาะเลี้ยงคล้ายกับวิธีการเพาะเห็ดฟางโดยใช้ ฟางข้าว เป็นวัสดุเพาะ นอกจากนี้ยังสามารถใช้วัสดุเพาะอื่นๆ ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น ต้นและใบถั่วต่างๆ ต้นข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวา ต้นและใบกล้วย สามารถนำมาเป็นวัสดุได้ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย และให้ผลผลิตสูง ลักษณะคล้ายเห็ดโคนสีขาวหมวกสวยงามสมส่วน ก้านดอกขนาดเท่าดินสอดำ ความยาวของต้นเห็ดประมาณ 2-3 นิ้ว 

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะเห็ดโคนน้อยคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตสั้นมากไม่เกิน 36 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น โดยตอนเช้าจะมีขนาดเล็กและจะโตขึ้นในช่วงบ่าย ซึ่งจะต้องรีบเก็บ และทำการลวกให้สุกเสียก่อนก็พอที่จะสามารถเก็บได้นานขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเติบโตเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง (autolysis)  เป็นที่มาของชื่อเห็ดหมึกซึ่งไม่สามารถนำมาบริโภคได้

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ ได้มีการนำของเหลวจากการสลายตัวนี้มาใช้ประโยชน์ได้เช่นทำน้ำหมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง

เห็ดโคนน้อยที่เพาะกันทั่วไป มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แน่นอนแล้วจะไม่มี สารพิษ Coprine ซึ่งสารชนิดนี้พบว่าจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Coprinus syndrome (Bresinsky and Besel,1990) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากสารพิษ coprine ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ สารพิษนี้มีฤทธิ์เสริมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภครับประทานเห็ดในกลุ่มใกล้เคียงเหล่านี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่ว่าก่อนหรือหลัง จะมีอาการเมาค้าง หายใจหอบ หน้าแดงเนื่องจากหลอดเลือดขยาย ใจสั่น ชีพจร เต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ มึนงง สับสนหรือประสาทหลอนและความดันโลหิตต่ำ อาการจะปรากฏอยู่ไม่นานและดีขึ้นภายใน 5 วัน การรักษาเนื่องจากพิษ โดยปกติจะหายได้เอง ยกเว้นถ้าอาการคงอยู่นาน ต้องทำให้อาเจียน ล้างกระเพาะลำไส้ ถ้าความดันต่ำมากต้องให้การรักษาทันที

เนื่องจากความนิยมบริโภคเห็ดโคนของประชาชนทั่วไปมีสูง เพราะเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย อุดมด้วยโปรตีนและคุณค่าทางอาหารสูง และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กับปลวก และจะพบขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ประมาณกันยายน ถึงตุลาคม 

เห็ดโคนน้อย มีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ ถ้าตำให้ละเอียดใช้พอกภายนอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ได้ มีรายงานวิจัยที่แสดงว่าเห็ดนี้สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง sarcoma 180 และ เซลล์มะเร็ง Ehrlich carcinoma ได้สูง 90 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับและยังพบว่ามีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อราได้อีกด้วย

สุขสาระ เมษายน 2560

Tags : all สมุนไพร ร่างกาย อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 16 ต.ค. 2562, เวลา 10:02


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่