ทำไมไม่ปิดโรงงานยาสูบไปเลย? จะมัวมารณรงค์กันอยู่ทำไม? เสียเวลา...

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แม่จะตั้งใจดีก็ตาม ปิดโรงงานยาสูบไปก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าคนจะหยุดสูบบุหรี่ เพราะอะไรนะหรือ? จะขอทำความเข้าใจโดยเรียงลำดับตามนี้นะครับ

ดลรอฮีม พันหวัง

เชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงมีคำถามหรือเคยได้ได้ยินคำถามแบบนี้มาบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านต่อต้านยาสูบมา20 ปี ขอบอกว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แม้จะตั้งใจดีก็ตาม ปิดโรงงานยาสูบไปก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าคนจะหยุดสูบบุหรี่ เพราะอะไรนะหรือ? จะขอทำความเข้าใจโดยเรียงลำดับตามนี้นะครับ

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พบว่า จำนวนประชากรอายุุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งสิ้น 57 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.4 ซึ่งบุหรี่ที่คนไทยสูบกันมีทั้งบุหรี่ซิกาเร็ต (บุหรี่มวนมาตรฐานที่มาจากโรงงาน) บุหรี่มวนเองหรือยาเส้นทั้งที่มาจากโรงงานเล็กๆ และที่มวนสูบกันเอง

บุหรี่ที่สูบกันส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากโรงงานยาสูบ?

ข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ตรงกันว่า คนไทยสูบบุหรี่ซิกาเร็ตและบุหรี่มวนเองอย่างละครึ่ง (ประมาณร้อยละ 50) ลำพังบุหรี่ซิกาเร็ต ก็มีทั้งที่มาจากโรงงานยาสูบและที่นำเข้าโดยถูกกฎหมาย ซึ่งบุหรี่น้ำเข้านั้นมีทั้งที่เสียภาษีเข้ารัฐ และแบบที่หนีภาษี บุหรี่มวนเองก็คล้ายๆ กัน คือ มีทั้งที่ขึ้นทะเบียนเสียภาษีและหนีภาษี จะเห็นได้ว่าโรงงานยาสูบนั้นเป็นต้นทางของบุหรี่เพียงบางส่วนเท่านั้นเอง อาจไม่ถึง 1 ใน 4 ของวงจรบุหรี่ในไทยทั้งหมดเสียด้วยซ้ำไป นี่ยังไม่รวมถึงสัดส่วนของบุหรี่ไฟฟ้า

จริงๆ แล้ว บุหรี่มวนเองหรือใบจากยาเส้นที่เราคุ้นเคยกันนั้น ตามกฎหมายแล้วคนปลูกหรือคนผลิตก็ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีเข้ารัฐเช่นกัน แต่..ข้อมูลตรงนี้ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ปลูกจำนวนมากไม่จดทะเบียน ง่ายๆ คือ ไม่เสียภาษี (จริงดิ!) บางคนปลูก 10 ไร่ แต่ขึ้นทะเบียนแค่ 5 ไร่ก็มี บางรายไม่ขึ้นทะเบียนเลยก็มี ทำให้ข้อมูลการปลูกยาสูบที่มีในปัจจุบันนั้นยังไม่น่าเชื่อถือพอ โดยคาดว่ามีผู้ปลูกยาสูบจริงๆ มากกว่าที่ขึ้นทะเบียนจำนวนมาก

โรงงานยาสูบมีมาก่อนการรณรงค์ต้านบุหรี่

โรงงานยาสูบนั้นก่อตั้งมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2482 ปัจจุบันใช้ชื่อ "การยาสูบแห่งประเทศไทย" เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้รับสิทธิผูกขาดในการผลิตบุหรี่ซิกาแรต มีหน้าที่ผลิตบุหรี่ทั้งส่งออกและขายในประเทศ หารายได้เข้ารัฐ

ต้องเข้าใจว่าในยุคนั้น ยังไม่มี่ใครทราบข้อมูลผลร้ายของบุหรี่มากนัก ดาราหรือแม้แต่แพทย์เองหลายคนยังสูบบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบจึงมีขายกันทั่วโลก เป็นวงจรธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างรายได้ให้รัฐจำนวนมาก มีการส่งเสริมทำไร่ยาสูบป้อนโรงงานตกทอดกันมาหลายรุ่นจนเป็นอาชีพหลัก

เวลาผ่านไปเนิ่นนานจนมาถึงตอนนี้ อันตรายของบุหรี่มันชัดเจนขึ้นมาก นักวิชาการ หมอทั่วโลกก็ห้ามสูบ หลายคนอยากจะห้ามขายบุหรี่ อยากจะปิดโรงงานยาสูบ ก็สายไปแล้ว คนสูบบุหรี่กันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว หลายประเทศรวมทั้งไทยจึงพยายามออกมาตรการต่าง ๆ มาควบคุมบุหรี่เพื่อลดปัญหานี้ โดยที่โรงงานยาสูบนั้นก็ยังมีอยู่ อ้าว..ทำไมไม่ปิดไปเลยละ! 

ปิดโรงงานยาสูบได้ไหม?

คือแบบนี้ครับ การปิดโรงงานยาสูบถ้ามองในแง่การลดอุปทานก็ดีนะ ถือว่าลดต้นทางบุหรี่ไปได้เกือบ 1 ใน 4 ทำให้คนหาบุหรี่มาสูบยากขึ้น! แต่ในความเป็นจริง หากอุปสงค์หรือความต้องการยาสูบยังมีอยู่มาก การปิดโรงงานยาสูบก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และอาจจะสร้างปัญหาอื่นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น การทะลักเข้ามาของบุหรี่หนีภาษี การขายบุหรี่ช่องทางออนไลน์ การหันไปสูบใบจากยาเส้นกันมาขึ้น นี่ยังไม่นับชาวไร่ยาสูบและพนักงานโรงงานยาสูบกว่า 2,000 คนที่ตกงาน ต้องหางานใหม่ (บทความนี้ยังไม่พูดถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน)

หากจะปิดโรงงานยาสูบ อย่างน้อยรัฐต้องเตรียมการช่วยเหลือชาวไรยาสูบและพนักงานโรงงานยาสูบไว้ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไร้วี่แววจากรัฐ เอาตรงๆ คือ ปิดแล้วมันกระทบหลายหน่วยงานหลายกระทรวง คุยกัน "ไม่จบ" แน่ ๆ กับการเมืองแบบบ้านเรา เอาแน่เอานอนไม่ได้ ..เอ๊ะ! หรือว่ารายได้จากโรงงานยาสูบมันเยอะมากใช่ไหม? เอาเป็นว่ารายได้ไม่เยอะหรอกครับ ไปค้นข้อมูลดูได้ เรื่องนี้ว่างๆ ค่อยคุยกัน

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?

จะเห็นได้ว่า การตั้งคำถามให้ ปิดโรงงานยาสูบ เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองภาพรวม ไม่สนใจต้นสายปลายเหตุของปัญหา ถือเป็นเพียงวาทกรรมที่พยายามผลักภาระไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาแก้ปัญหา แล้วคิดว่ามันจะจบ บอกเลยว่า “ไม่จบครับ” ไม่มีอะไรง่ายขนาดนั้น ระหว่างรอโรงงานยาสูบถูกปิด เราทำอะไรได้บ้าง..

1) การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ ที่หลายๆ หน่วยงานทำกัน ซึ่งเป็นส่วนของการลดอุปสงค์ 2) การชวนเลิกปลูก ชวนเลิกขายยาสูบโดยสมัครใจ ซึ่งเป็นในส่วนของการลดอุปทาน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ เป็นการลดความต้องการบุหรี่จากต้นตอปัญหาเลย ลดความต้องการด้วยลดสินค้าลงด้วย ซึ่งเป็นหนทางที่ยั่งยืนกว่ามาก เรามาช่วยกันดีกว่า “การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ 1 คน หรือทำให้เลิกปลูกยาสูบได้ 1 คน เป็นสิ่งที่คุ่มค่ามากๆ และไม่ได้ถือเป็นเรื่องเสียเวลาเลย”

ไม่มีโรงงานยาสูบ คนที่อยากจะสูบก็พยายามหามาสูบจนได้แหละครับ ส่วนคนที่เลิกสูบได้เพื่อสุขภาพ เพื่อครอบครัว เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสังคม คนกลุ่มนี้ต่อให้มีโรงงานยาสูบรอบบ้านสัก 100 โรงงาน เขาก็ไม่หามาสูบครับ เชื่อผม..

 

ข้อมูล

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/45211

https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1528320240129105408.pdf

https://www.trc.or.th/th/attachments/article/527/รายงานสถานการณ์%20การบริโภคยาสูบของประเทศไทย%20พ.ศ.2562.pdf

 

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 235
เดือนกันยายน 2567

Tags : all โรค บุหรี่

แก้ไขล่าสุด : 5 ต.ค. 2567, เวลา 22:55


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่