อาหารหะลาล ในโรงพยาบาลและชุมชน

ปัจจุบันองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หะลาล ต่างๆ ได้มีการเชื่อมโยงการทำงานกัน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและส่งผลให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยดี

อาหารหะลาล ในโรงพยาบาลและชุมชน

ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายบ่งบอกว่าคนที่มีจิตใจศรัทธาในศาสนาจะรับการรักษาได้ดีกว่า เพราะคนเหล่านี้มีความต้องการมีชีวิตอยู่ต่อ จึงยินยอมรักษาตัวให้หายจากอาการป่วย กรณีการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เคร่งครัดในหลักการศาสนา พบว่าความศรัทธาจะเป็นผลเชิงบวกส่งผลให้ผู้ป่วยต่อสู้ในการ รักษาชีวิตของตนเองมากกว่าผู้ขาดศรัทธา และในกรณีของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามมีแนวโน้มที่พบว่าเมื่อมีอาการป่วยจะเคร่งครัดในหลักการของศาสนามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องการผลิตภัณฑ์และอาหารที่หะลาลมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจและใส่ใจ

อาหารนั้นเกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้ง 4 องค์ประกอบ คือ การส่งเสริม ป้องกันโรค รักษาโรค และการฟื้นฟู ทั้ง 4 อย่างนี้ อาหารจะเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด ดังอัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า “มุสลิมและคนทั้งโลกจงบริโภคสิ่งที่อนุมัติหรือหะลาล และ สิ่งที่ดี จากสิ่งที่มีอยู่ และอย่าเดินตามไชตอน เพราะมันคือ ศัตรูที่แท้จริง” ซึ่งมุสลิมทุกคนยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราทราบมาแล้วว่าอาหารที่หะรอมมีอะไรบ้าง เช่น สุกร เนื้อสัตว์ที่ไม่ถูกเชือดอย่างถูกต้อง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เหล้า เบียร์ และอื่นๆ ที่มีแอลกอฮอล์ แต่ปัจจุบันอาหาร ต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้นจากที่เราเคยทราบ จึงทำให้เราทุกคนต้องคอยระแวดระวังและศึกษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การผลิตวัคซีนก็เช่นเดียวกัน วัคซีนส่วนใหญ่ที่ใช้กันในปัจจุบันไม่ใช่วัคซีนที่ผลิตมาจากประเทศมุสลิม จึงทำให้มีคำถามว่า ทำไมสังคมมุสลิมจึงไม่สร้างนักวิทยาศาสตร์การแพทย์มาเพื่อผลิตวัคซีน และจากการศึกษาพบว่าแพทย์ที่เป็นมุสลิมทั่วโลกมีน้อยมาก สำหรับสิ่งที่เป็นหะรอมยุคใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก เช่น เอนไซม์จากสัตว์ เจลาติน คอลลาเจน เอนไซม์จากเลือดและยีสต์ เหล่านี้ เป็นประเด็นที่เราจะต้องร่วมกันหาทางสกัดสิ่งเหล่านี้ออกจากผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร และส่งผลต่อการรับรองหะลาลในทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศใด

สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยก็มีที่เป็นประเด็นปัญหา เช่น อายิโนะโมะโต๊ะเมื่อปี พ.ศ. 2544 พบรายงานจากการตรวจสอบว่าพบเอนไซม์จากสุกรในน้ำยาเลี้ยงเชื้อ ซึ่งในน้ำยาเลี้ยง เชื้อนั้นได้มีการตัดสินแล้วว่าหะลาล แต่ในที่สุดประชาชนก็ไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น ประเด็นหะลาลหะรอมจึงอยู่ที่ผู้บริโภคมีการรับข้อมูลโดยตรง จึงทำให้มีการนำข้อมูลที่ได้รับนั้นมาใช้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้บริโภคถ้ามีการ ใช้ของที่หะรอมผู้บริโภคไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เราต้องมาดูว่าเรามีสิ่งทดแทนหรือไม่ ถ้ามีทำไมไม่ใช้

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีความคลุมเครือคือไม่รู้ว่ามาจากไหน เช่น เจลาตินและคอลลาเจน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสองอย่างนี้ ถ้าเป็นสิ่งที่มีราคาถูก หาง่าย ก็จะมาจากสุกร ในปัจจุบันมีการใช้คอลลาเจนจากปลา ซึ่งคอลลาเจนจากปลานี้หะลาล สามารถใช้ได้ แต่มีบางผลิตภัณฑ์ เช่น มาร์ชเมลโล่มีการปนเปื้อนเจลาตินที่มาจากสุกรเพื่อลดต้นทุน ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมคอลลาเจนปนเปื้อน 8 ใน 10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมี ผลิตภัณฑ์หะลาล เพียงแค่ 2 ผลิตภัณฑ์ เท่านั้น ซึ่งแสดงว่าบริษัทสามารถผลิตสินค้าให้บริสุทธิ์หรือหะลาล ได้ เพราะเราสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกดดันให้ บริษัทผลิตสินค้าที่หะลาล และปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่หะลาลหรือหะรอมมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับการใช้ยีสต์ถ้าหากนำยีสต์มาทำเป็นผงฟูนั้น สามารถใช้ได้ แต่ถ้านำมาหมักเหล้าเบียร์นั้นใช้ไม่ได้ เพราะ ศาสนาห้ามยุ่งเกี่ยวกับเหล้าเบียร์ ดื่ม กิน จำหน่าย ซื้อ เป็น ของขวัญก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอแนะนำว่าอย่าใช้

นอกจากนี้ กรณีของแอลกอฮอล์ที่ใช้ทางการแพทย์ทำลายเชื้อโรค หรือ ผสมในเชื้อเพลิงก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งหะรอม นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดอยู่ในปัจจุบันคือ เลือด เช่น แกงเขียวหวานไก่ใส่เลือด ทำไมไม่หะลาล เพราะเลือดไก่ก็มาจากไก่ที่เชือดอย่างถูกวิธีตามหลักการศาสนาและ ยังมีผู้ร้องเรียนมาว่ามีการขายเลือดไก่ใส่ถุงติดตราหะลาลที่ตลาดดรีมเวิลด์ เพราะเลือดไก่นั้นมาจากโรงงานเชือดไก่ที่หะลาล จุดนี้เกิดจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิม จึงไม่มีความรู้ว่าเลือดเป็นนายิส (สิ่งปนเปื้อนทางศาสนา) ไม่สามารถรับประทานได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัจจุบันมีไวน์ วิสกี้ หะลาลออกจำหน่าย จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า มีด้วยหรือไวน์ วิสกี้ ที่หะลาล แม้ผลิตภัณฑ์นั้นจะมีแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ ก็ไม่อนุญาตเพราะไม่ใช่หลักการของศาสนาอิสลาม ดังนั้น เราจึงอย่าเข้าหาอะไรที่หมิ่นเหม่ หากมีบริษัทใดมาขอเครื่องหมายหะลาล เราไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพราะมิฉะนั้นต่อไปในอนาคตก็จะมีหมูแดงเจหะลาลออกมาให้บริโภคก็เป็นได้ เคยมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งชื่อว่า “คูลเลอร์” มาขอเครื่องหมายหะลาล ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ว่า “คูลเลอร์” คืออะไร ทั้งนี้ คูลเลอร์คือแชมเปญ ก็ไม่ได้ให้เครื่องหมายหะลาล บางครั้งมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม คือ มีอาหารบางชนิดที่มาขอรับรองหะลาล เช่น ตับห่าน หูฉลาม ควรจะรับรองหะลาลหรือไม่เพราะตับห่านมีกระบวนการเจริญเติบโต คือ การป้อนอาหารโดยใช้ท่อเหล็ก เพื่อทำให้ท่านเป็นโรคและทำให้ตับห่านที่อุดมไปด้วยไขมันโตขึ้นจากนั้นก็ฆ่าห่าน เพื่อนำตับห่านมารับประทาน สิ่งเหล่านี้ตามหลักคุณธรรมแล้ว ไม่ควรได้รับตราหะลาล เพราะเป็นการสนับสนุนการทรมานสัตว์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์กรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หะลาล ต่างๆ ได้มีการเชื่อมโยงการทำงานกัน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและส่งผลให้การทำงานเป็นไปได้ด้วยดี ส่งผลให้มีส่วนดีต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่จะเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล เพราะกระบวนการผลิตอาหารหะลาล ในโรงพยาบาลก็จะต้องใช้กระบวนการผลิตแบบเดียวกับอุตสาหกรรม เพราะเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซียได้มอบเครื่องหมายหะลาล ให้กับกาแฟขี้ชะมดซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะองค์กรศาสนาของประเทศ อินโดนีเซียบอกว่าเมล็ดกาแฟขี้ชะมดได้ผ่านกระบวนการล้าง มาอย่างสะอาดแล้ว แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านบอกว่าอาจจะ มีเมล็ดกาแฟบางเม็ดที่แตกจนทำให้ขี้ชะมดซึมเข้าสู่เนื้อเม็ดกาแฟได้ อาจทำให้เป็นนายิสไม่หะลาลต่อการดื่ม ประเด็นตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่ส่งผลไปในทางธุรกิจได้

ปัจจุบันงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ก้าวไปไกลมาก และมีบางเรื่องที่หมิ่นเหม่ เช่น การใช้ยีนของสุกร การใช้ยีนจากสัตว์ และแม้กระทั่งการใช้ยีนจากมนุษย์เข้ามาเป็นส่วนประกอบ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อเป็ดแต่งกลิ่นสุกรเทียม จะมาขอตราหะลาล ผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอนยีนมนุษย์จะทำให้ได้ปลาตัวใหญ่เท่ามนุษย์ แต่อเมริกาและบราซิลก็ออกมาต่อต้าน เพราะเกรงว่า ปลาเหล่านี้หากออกไปสู่ธรรมชาติจะส่งผลต่อปลาแซลมอน ธรรมชาติอาจสูญพันธ์ได้ ดังนั้น จึงมีข้อห้ามออกมาแล้ว

สิ่งที่พึงตระหนักคือศาสนาให้เราบริโภคอาหารที่หะลาล แต่ในกรณีที่ไม่มีอาหารที่หะลาล เราก็ไม่รู้จะเลือกกินอะไร หากเป็นเช่นนี้อัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ กล่าวไว้ว่า ผู้ใดที่ได้รับความคับขันไม่ใช่ผู้เสาะแสวงหาและผู้ละเมิดขอบเขต หากไปใช้วัคซีนหรือใช้อะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบปนเปื้อน บาปก็ไม่ได้ตกอยู่ที่ท่าน เพราะท่านอยู่ในภาวะคับขัน แต่บาปจะตกอยู่กับผู้ที่ให้การรับรองตราหะลาล ดังนั้น สังคมต้องสร้างผู้รู้ในแต่ละด้าน เช่น เราไม่มีแพทย์ผู้พัฒนาวัคซีน ก็บาปกันทั้งโลก ทุกท่านไม่บาปถ้าใช้เวชภัณฑ์ แต่บาปตรงที่ไม่สนับสนุนให้มีการสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างแพทย์ที่จะมาใช้เทคโนโลยีพัฒนาเวชภัณฑ์เพื่อมุสลิม “การสร้างความชัดเจน ระหว่างหะลาล หะรอม และสิ่งที่คลุมเครือ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ผู้ใดที่รักษาตนเองออกไปจากความคลุมเครือ เขาได้ดูแลตัวเขาและรักษาเกียรติของอิสลาม

ที่ผ่านมาเราก็อยู่กันมาในความคลุมเครือ อยู่ในภาวะคับขันกันมาว่า 1,400 ปี เพราะเราไม่ได้สร้างนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถใช้ได้ และทำสิ่งที่คลุมเครือนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับวันนี้ เราถูกต้อนให้จนมุมอยู่กับความคลุมเครือ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือ หากเราเลี่ยงไม่ได้เราต้องหาสิ่งทดแทน และการที่เราเรียกร้องสิ่งที่หะลาล ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพราะมีบางบริษัทที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะผลิตสินค้าให้หะลาล เช่น บริษัทแอมเวย์ บริษัท มีด จอห์นสัน และบริษัทอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาก็ประกาศแล้วว่า จะผลิตสินค้าที่หะลาลออกมา ตรงนี้ ต้องขอบคุณประเทศ มาเลเซียที่เอาจริงเอาจังและเข้มงวดเรื่องหะลาล

 

ที่มา: หนังสือหะลาลหะรแมทางการแพทย์ โดย มูลนิธิสร้างสุขุมสลิมไทย (สสม.)

เรียบเรียงโดย นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต

Tags : all อาหาร

แก้ไขล่าสุด : 26 ก.พ. 2568, เวลา 22:06


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่