แนะมีไข้สูงหลังจากเที่ยวป่า รีบพบแพทย์ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนหากมีไข้สูง ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะขมับและหน้าผาก มีแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ที่รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว ภายใน 3 สัปดาห์หลังกลับจากการท่องเที่ยวป่า อาจเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อนกัด ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการท่องเที่ยวด้วย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ ประชาชนนิยมไปท่องเที่ยวธรรมชาติ สัมผัสอากาศหนาวเย็น ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ดูแลร่างกายให้อบอุ่น สวมเครื่องกันหนาวให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในฤดูหนาว ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม อุจจาระร่วง รวมทั้งโรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ที่เกิดจากไรอ่อนในป่ากัด ดังนั้นหากพบแผลถูกกัด ลักษณะมีรอยบุ๋มสีดำ คล้ายแผลบุหรี่จี้ (Eschar) มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะขมับและหน้าผาก ภายใน 3 สัปดาห์หลังกลับจากการท่องเที่ยวป่า ขอให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการท่องเที่ยวด้วย

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในตัวไรอ่อน ซึ่งมีขนาดเล็กมาก และอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้กับพื้นดิน โดยไรอ่อนจะกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคน และกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกไรอ่อนกัดประมาณ 10-12 วันหรือบางรายอาจนานถึง 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก มีไข้สูงตลอดเวลา หนาวสั่น ตาแดงคลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดเป็นแผลบุ๋มสีดำคล้ายรอยไหม้จากบุหรี่จี้ (Eschar) พบผื่นแดงตามร่างกายและแขนขา แต่จะไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ในการตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า ควรกางบริเวณโล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าที่ขึ้นรก ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าขอให้อาบน้ำ และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 พฤศจิกายน 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 8,773 ราย เสียชีวิต 4 ราย

ที่มา สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 10 ม.ค. 2562, เวลา 14:07



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่