ไข้หวัดใหญ่ร้ายกว่าที่คิด

แต่ละปีสถิติผู้ป่วย (ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง) ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากถึง 1ต่อ10,000รายที่ป่วยไข้หวัดใหญ่ ซึ่งน่าตกใจ เพราะใครจะคาดคิดว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถคร่าชีวิตคนได้ถึงเพียงนี้

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาเสมอไป เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสที่มีอัตรากลายพันธุ์สูงมาก เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ฉะนั้นแต่ละปี ไวรัสไข้หวัดใหญ่มักปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้สามารถก่อโรคในคนได้ทุกปี เป็นสาเหตุต้องพัฒนาวัคซีนที่ไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เผยว่า องค์การอนามัยโลกคาดการณ์สถานการณ์ปัจจุบันว่าผู้ใหญ่อายุ 18ปีขึ้นไป มีโอกาสป่วยร้อยละ10-15ต่อปี ส่วนเด็กถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมากถึงร้อยละ30-40ต่อปีของประชากรเด็ก และมีรายงานทางสถิติอีกว่าถ้าเป็นคนที่ไม่มีภาวะเสี่ยง จะพบอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 1ต่อ10,000ราย

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเองหายเอง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค แต่หากป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะมี 2ประเภท คือ เสี่ยงเป็น กับ เสี่ยงตาย”

“เสี่ยงเป็น” เด็กถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายที่สุด เพราะภูมิคุ้มกันต่างๆ ยังทำงานไม่เต็มที่ รวมไปถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักมีการสัมผัสจากการเล่นกัน ไอ จาม สั่งน้ำมูก และไม่ชอบล้างมือ
“เสี่ยงตาย” ผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กเล็กอายุต่ำกว่า2ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว อาทิ ปอด หัวใจ เบาหวาน ไต โรคอ้วน หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น เมื่อเป็นอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

วิธีป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอัตราเสี่ยงเป็น และ เสี่ยงตาย นอกจากดูแลตนเองเช่น ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด เป็นต้น

วิธีป้องกันโรคที่ดีและคุ้มค่าอีกหนึ่งวิธีคือฉีดวัคซีนป้องกันซึ่งปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด3สายพันธุ์ และชนิด4สายพันธุ์

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กวัย 6 เดือน – 2 ปี เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากภาครัฐบาลเพียงแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นขณะที่หลายครอบครัวมักพาเด็กเล็กไปในที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการรุนแรงได้ จึงควรคำนึงถึงการฉีดวัคซีนในช่วงวัยนี้ รวมทั้งคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดเด็กก็ควรฉีดวัคซีนเช่นกัน เนื่องจากเด็กต่ำกว่า 6 เดือนยังฉีดวัคซีนไม่ได้ จึงควรเน้นฉีดวัคซีนป้องกันในหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันผ่านรกไปป้องกันทารกในช่วง 6 เดือนหลังคลอด

ที่มา สยามรัฐ
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 16 ก.ย. 2561, เวลา 22:24



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่