เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. เป็นประธานกล่าวเปิดงานเวทีสร้างความเข้าใจเครือข่ายองค์กรซะกาตระดับภูมิภาค ระหว่างองค์กรพันธมิตรกับต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นแอร์พอร์ต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี รองประธานมูลนิธิฯ นายแวยูโซ๊ะ แวหะยี ที่ปรึกษา สสม. นายอิสมาแอล หมัดอะด้ำ ประธานมูลนิธิคนช่วยฅน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ที่ผ่านมา สสม. ได้ใช้กลยุทธ์ "สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง" ซึ่งมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตในระดับชุมชน ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมมุสลิม ผ่านระบบซะกาต โดยดำเนินการร่วมกับผู้นำศาสนาผู้นำชุมชนนักวิชาการศาสนาเป็นต้น
นางสาวอลีนา หีมเห็ม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า "โครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค ได้ขยายผลจากโครงการมัสยิดครบวงจร ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนซะกาตในระดับภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค ที่สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างกองทุนภายในเครือข่าย และระหว่างเครือข่ายด้วยกัน โดยร่วมมือกับองค์กรศาสนา และภาคประชาสังคมที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน"
"ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้ต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. ที่ประสบความสำเร็จในอดีตได้ถ่ายทอดแนวทางการบริหารกองทุนซะกาต และแลกเปลี่ยนบทเรียนจากประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรพันธมิตรและภาคีกองทุน (ลูกข่าย) รับแนวคิดไปขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในระดับชุมชน และส่งต่อรูปแบบระบบการบริหารกองทุนให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนา ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ต่างมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน ถ้าระบบนี้สามารถดำเนินไปได้เต็มรูปแบบ และมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ ก็จะทำให้ปัญหาความทุกข์ยากภายในสังคมมุสลิมน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด" ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กล่าว
กิจกรรมวันนี้เป็นความร่วมมือของ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ 1.สมาคมชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ปัตตานี 2.สมาพันธ์ผู้บริหารมัสยิด 4 อำเภอ จ.สงขลา (จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) 3.ชมรมมุสลิมสัมพันธ์จังหวัดตรัง 4.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนอง
ต้นแบบกองทุนซะกาต สสม.จำนวน 5 แห่งได้แก่ 1.กองทุนซะกาตมัสยิดดาหรนอาหมัน จ.สงขลา 2.กองทุนซะกาตมัสยิดดารุลฮูดา จ.สงขลา 3.กองทุนซะดาตมัสยิดบ้านกลาง จ.นครศรีธรรมราช
4.กองทุนซะกาตมัสยิดบางอ้อ จ.กรุงเทพฯ 5.กองทุนซะกาตประจำจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ มีตัวแทนมัสยิดบ้านห้วยโอน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ผู้เข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจากพื้นที่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 40 คน
บรรยากาศภายในงานช่วงเช้ามีกิจกรรมถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การทำงานกับความสำเร็จของชุมชนปาตาปาระ จังหวัดปัตตานี โดย รศ.ดร.ซุกรี สะยีสาแม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ. ปัตตานี ในฐานะผู้ประสานงานชุมชนประมงรักษ์สุขภาวะปาตาบาระ
กิจกรรมกลุ่ม (workshop) ขององค์กรพันธมิตร นำเสนอสถานการณ์กองทุนซะกาตในพื้นที่ ความคาดหวังของกองทุนซะกาต ปัญหาและอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นพร่อมแนวทางแก้ไข และเสนอชื่อภาคีลูกข่ายกองทุนซะกาตที่จะร่วมขับเคลื่อนกับองค์กรพันธมิตร
ช่วงบ่าย เป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับความสำเร็จการบริหารจัดการกองทุนของต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. ซึ่งดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลีนี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับต้นแบบกองทุนซะกาต สสม.
หลังจากนี้จะมีเวทีระหว่างองค์กรพันธมิตรกับภาคีเครือข่าย (ลูกข่าย) ในแต่ละพื้นที่ของตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดตั้งกองทุนซะกาตในพื้นที่
แก้ไขล่าสุด : 27 ก.พ. 2566, เวลา 13:24