หญ้าคา สุดยอดสมุนไพรที่ถูกมองข้าม

หญ้าคาเป็นวัชพืชที่ติดอันดับของวัชพืชที่แย่ที่สุดของโลกเป็นศัตรูร้ายที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาช้านาน สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่กำจัดได้ยาก ก่อให้เกิดความรำคาญแก่เกษตรกรยิ่งนัก

หญ้าคา สุดยอดสมุนไพรที่ถูกมองข้าม

หญ้าคาเป็นวัชพืชที่ติดอันดับ1 ใน 10 ของวัชพืชที่แย่ที่สุดของโลกเป็นศัตรูร้ายที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาช้านาน สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่กำจัดได้ยาก ก่อให้เกิดความรำคาญแก่เกษตรกรยิ่งนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นกลับพบว่ามันเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ที่ใครๆต้องการเนื่องจากมันสามารถนำมาทำเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้หลายชนิด และยังสามารถนำมามุงเป็นหลังคาป้องกันความร้อนจากแสงแดด และฝนตก ที่สำคัญมันได้ชื่อว่าเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้คนในหลายๆท้องที่อีกด้วย

หญ้าคา เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลหญ้า สูงประมาณ ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตรลักษณะลำต้นเป็นทรงกลมเรียวยาวขนาดเล็ก ใบแบนมีลักษณะเป็นขนกระจุก เป็นเส้นตรงยาว และขอบใบมีลักษณะคมกริบ ออกดอกเป็นช่อก้านยาวสีขาว คล้ายหางกระรอก เป็นพืชที่ทนต่อแสงแดดและความร้อนได้ดี และเจริญเติบโตไว ขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ดและเหง้า พบเห็นทั่วไปตามท้องไร่นา และตามพื้นที่ป่า

ประโยชน์ในฐานะเป็นพืชสมุนไพร  หญ้าคาขึ้นชื่อว่าเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคมะเร็งคอ แก้ลมพิษ ผื่นคันแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคริดสีดวง แก้โรคความดันโลหิตสูง แก้โรคเบาหวาน เป็นต้น โดยส่วนต่างๆของหญ้าคามีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้หลายอย่าง ดังนี้

สรรพคุณของรากหญ้าคา ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที จนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่นๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น

ช่วยแก้อาการปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ด้วยการใช้รากสดประมาณ 250 กรัม ใส่ในน้ำ 2,000 มิลลิลิตร แล้วต้มจนเหลือ 1,200 มิลลิลิตร และใส่น้ำตาลพอสมควร ใช้แบ่งกินประมาณ 3 ครั้ง ให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้กินแทนชาติดต่อกันประมาณ 5-15 วันก็ได้ โดยนับเป็น 1 รอบของการรักษา

ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะผสมกับรากบัว (ประมาณ 15 กรัม) ร่วมด้วย แล้วนำมาต้มกับน้ำกินก็ได้เช่นกัน

ช่วยแก้ออกหัด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ต้มเอาแต่น้ำดื่มบ่อยๆ

ประโยชน์จากรากหญ้าคา ยังใช้ทำเป็นน้ำตาลได้ โดยในช่วงฤดูหนาวให้ขุดดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงชอนเข้าไปลึกๆ และให้ตัดหญ้าคายาวๆ ออกบ้าง แล้วให้เอาแกลบมาใส่ให้เต็มโพรงที่ขุด และให้หมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนเมื่อรากงอกยาวสีขาวงามดีแล้ว ให้เอาแกลบออก จับรากมัดรวมกัน แล้วใช้มีดคมๆ ปาดเหมือนปาดจั่นมะพร้าวหรือตาลโตนด ทิ้งไว้ 3 วัน เมื่อครบวันก็ให้เอาภาชนะไปรองรับที่มัดรากที่ปาดแล้วนั้น วันรุ่งขึ้นก็ให้มาเก็บน้ำตาล แล้วปาดลึกเข้าไปอีกให้ได้ทุกวันจนหมด

เรายังใช้ประโยชน์จากหญ้าคาได้หลายอย่างด้วยกันเช่น นำมามุงหลังคากระท่อม เล้าไก่ เล้าเป็ด เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าหญ้าคาไม่เพียงแต่จะเป็นวัชพืชที่ไร้ประโยชน์ที่สร้างความรำคาญและความกังวลใจให้แก่ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นวัชพืชที่มีคุณค่าต่อชีวิตคนเราในหลายๆด้าน กล่าวคือ มันเป็นยาสมุนไพรชั้นเลิศและยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย

สุขสาระ มกราคม 2558

Tags : all สมุนไพร สิ่งแวดล้อม

แก้ไขล่าสุด : 13 ก.พ. 2562, เวลา 00:12


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่