หะลาลหะรอมทางการแพทย์ Ep.02 การทำแท้ง

เรื่องราวเกี่ยวับการทำแท้งตามหลักการศาสนาอิสลาม จากหนังสือหะลาลหะรอมทางการแพทย์ (สสม.) เรียบเรียงโดยนายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต พร้อมประเด็นถาม-ตอบที่น่าสนใจ

หะลาลหะรอมทางการแพทย์ Ep.02 การทำแท้ง

“เมื่อพูดถึงการยุติการตั้งครรภ์ หลักเกณฑ์ทางการแพทย์และศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่ยังรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและจริยธรรมในสังคมอีกด้วย”

ตามหลักการของศาสนาอิสลาม การืทำแท้งถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นการทำลายชีวิต และเป็นบาปอันมหันต์ แต่มีมีข้ออนุโลมในบางกรณี

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ความกดดันจากครอบครัว ชุมชน และสังคมที่มีทัศนคติที่ไม่ยอมรับต่อการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่มีทางเลือกนอกจากการทำแท้ง รวมถึงปัญหาความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับบริบทพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม การทำแท้งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากขัดกับหลักศาสนา ในบริบทของพื้นที่ความขัดแย้ง ผู้หญิงบางคนอาจเผชิญกับการตั้งครรภ์จากการข่มขืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาสนาอิสลามยอมรับให้ทำแท้งในกรณีที่มีเหตุผลชัดเจน เช่น ผลกระทบทางจิตใจของผู้หญิง

ตามหลักการของศาสนาอิสลาม หากจะทำลายเด็กในครรภ์ให้เกิดการสูญเสียถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นการทำลายชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการฆ่าคนและเป็นบาปอันมหันต์ อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามมีข้ออนุโลมในบางกรณี หากการดำรงอยู่ของเด็กในครรภ์ทำให้มารดาเกิดอันตรายถึงชีวิต หรือในกรณีที่มารดามีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น กรณีที่ผู้หญิงชาวบอสเนียถูกข่มขืนโดยทหารเซอร์เบีย จนทำให้ไม่ยอมรับลูกในท้อง ศาสนาอิสลามจึงอนุญาตให้ทำแท้งได้และกรณีกรณีผู้หญิงที่ถูกวางยาและข่มขืน หากการตั้งครรภ์ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศและวงศ์ตระกูล ก็สามารถทำแท้งได้ โดยเด็กในครรภ์ต้องมีอายุไม่เกิน 120 วัน

ในทางกลับกัน หากบุตรที่เกิดจากการสมยอม ศาสนาไม่อนุญาตให้ทำแท้ง เพราะเด็กทุกคนเกิดมาด้วยความบริสุทธิ์ ผู้เป็นมารดาต้องเลี้ยงดูเด็ก และไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองบังคับให้ทำแท้ง

ประเด็นคำถาม : ตามหลักการศาสนาอิสลามสามารถทำแท้งได้หรือไม่ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเด็กในครรภ์มีภาวะไม่ปกติหากคลอดออกมา?

คำตอบ: ตามหลักการอิสลาม มะลาอิกะฮฺจะใส่วิญญาณให้เด็กทารกในครรภ์เมื่ออายุครรภ์ครบ 120 วัน หรือ 4 เดือน หลังจากนั้นเด็กถือว่าเป็นมนุษย์และต้องได้รับการเคารพ หากทำแท้งจะต้องมีค่าชดเชยสินไหม แต่ศาสนาอนุญาตในกรณีที่เด็กในครรภ์ทำให้มารดาเกิดอันตราย

ประเด็นคำถาม: กรณีที่มารดาตั้งครรภ์เกิน 120 วันไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเด็กในท้องเป็นสาเหตุให้แม่ต้องเสียชีวิต สามารถทำแท้งได้หรือไม่?

คำตอบ: การทำแท้งในกรณีนี้สามารถทำได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าการตั้งครรภ์จะส่งผลต่อชีวิตของมารดา อย่างไรก็ตาม กฎหมายและหลักการศาสนาจะต้องพิจารณาอย่างละเอียด

ประเด็นคำถาม: หากทำการอัลตราซาวด์ก่อน 120 วัน พบว่าเด็กไม่มีสมอง สามารถทำแท้งได้หรือไม่?

คำตอบ: กรณีเด็กไม่มีสมองถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง หากเด็กเกิดมาแล้วไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ศาสนาอาจอนุญาตให้ทำแท้งได้ (ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้รู้ทางศาสนา)

ประเด็นคำถาม: การทำอัลตราซาวด์เพื่อให้ทราบเพศของทารก สามารถทำได้หรือไม่?

คำตอบ: หากการอัลตราซาวด์นำไปสู่การปฏิเสธเด็ก ถือว่าผิดหลักศาสนา แต่หากไม่มีการปฏิเสธ สามารถทำได้ โดยยึดหลักว่าทุกเพศเป็นริสกีจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การทำแท้งสามารถกระทำได้ในกรณีต่อไปนี้: การทำแท้งกระทำโดยแพทย์ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย และได้รับความยินยอมจากหญิงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต โดยต้องได้รับการรับรองจากแพทย์อีกอย่างน้อย 1 คน การทำแท้งกระทำในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต เช่น โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่สามารถรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หมายเหตุเพิ่มเติม ในต่างประเทศ เช่น บางรัฐในสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ทำแท้งได้ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ขณะที่ประเทศไทยอนุญาตให้ทำได้ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทั้งนี้การทำแท้งในกรณีที่เด็กมีความผิดปกติอย่างร้ายแรงหรือหญิงถูกข่มขืนก็เป็นข้อยกเว้นที่กฎหมายและศาสนามักพิจารณาให้ความยืดหยุ่นตามความเหมาะสม

ที่มา: หนังสือหะลาลหะรแมทางการแพทย์ โดย มูลนิธิสร้างสุขุมสลิมไทย (สสม.)

เรียบเรียงโดย นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต

Tags : all ร่างกาย สสม.

แก้ไขล่าสุด : 8 ม.ค. 2568, เวลา 11:43


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่