มะเร็งปอด กับ บุหรี่

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในอันดับต้น ๆ ของประชากรเกือบทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด

มะเร็งปอด กับ บุหรี่

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในอันดับต้น ๆ ของประชากรเกือบทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากการวินิจฉัยโรคนี้ในระยะแรกไม่สามารถทำได้ดี ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยในระยะของโรคที่มากแล้ว อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น

ร้อยละ 90 ของมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 30 เป็นผลมาจากการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ มีการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่จัดจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 50 เท่า เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่รับควันบุหรี่มากที่สุด ความเสี่ยงต่อพิษภัยของควันบุหรี่ขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบและวิธีการสูดควันบุหรี่

บุหรี่ไม่ได้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงแค่มะเร็งปอดแต่ยังทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งเกือบทุกชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นต้น เนื่องจากในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมาก จึงทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด

อาการของโรคมะเร็งปอด

การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อไรที่มีอาการแสดงว่าโรคเป็นมากแล้ว อาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้หลายชนิด จึงมักทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้า ทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าไปด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในระยะที่เป็นมากแล้ว จะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครงและไหปลาร้าหรือสะบ้า อาจมีอาการหอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอก ส่วนบนกลืนอาหารลำบาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้

ความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด

โดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า แต่หากสูบมานาน 21-40 ปี โอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 30 เท่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดจะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเริ่มมีอาการเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ประมาณร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี และแม้ว่าจะให้การรักษาอย่างดี ก็จะมีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ 2 - 5 เท่านั้น

การรักษา            

1. การวินิจฉัยในระยะแรกเริ่ม แม้ว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะเพื่อหาเซลล์มะเร็งเป็นประจำทุกปีในผู้ที่มีความเสี่ยงจะไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่มจะมีผลการรักษาที่ดีกว่า ดังนั้นในบางประเทศก็ยังแนะนำให้ใช้การตรวจชนิดนี้อยู่ นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้การเอกซเรย์ที่มีความละเอียดสูงขึ้นร่วมกับการย้อมเสมหะด้วยวิธีพิเศษที่จะทำให้เห็นเซลล์ผิดปกติได้ง่ายขึ้นซึ่งแม้จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้กับประชากรทั่วไป

2. การผ่าตัด นับเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อระยะของมะเร็งนั้นเป็นไม่มาก และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ขั้วปอด หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ  ...การพัฒนาเทคนิคของการผ่าตัดให้มีแผลผ่าตัดที่เล็กลงจากการส่องกล้องและใช้การผ่าตัดแบบสงวนปอด ช่วยให้ผู้ป่วยทนต่อการผ่าตัดได้ดีขึ้นและสามารถฟื้นจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว

3. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ทั้งเป็นการป้องกันการกลับเป็นใหม่และลดอาการที่เกิดจากโรค การค้นพบยาชนิดใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยลงและได้ผลต่อโรคมากขึ้นและมียาบางชนิดสามารถให้ได้โดยการรับประทาน ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกมากขึ้น

4. การฉายรังสี ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีในขนาดที่สูงขึ้น โดยที่อวัยวะรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบจากรังสีชนิดนั้นๆ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง

5. การรักษาประคับประคอง เป็นวิธีที่พยายามช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติที่สุด โดยอาศัยการควบคุมอาการต่างๆ ของโรค เช่น อาการเหนื่อย ไอ จนถึงขั้นไอเป็นเลือด ซึ่งทำได้โดยการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้ดีที่สุด

การดูแลตนเองภายหลังการรักษา เรื่องสำคัญข้อแรกคือ หยุดสูบบุหรี่ทันที เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น ควรออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอดและหัวใจให้ดีขึ้น

พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น

บุหรี่ 1 มวน คนสูบ 1 คน พ่นควันพิษให้กับคนอื่นๆ อีก 9 คน คนที่สูบ 20 มวนต่อวัน มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว พ่อที่สูบบุหรี่ขณะที่ลูกอยู่ด้วย ลูกมีโอกาสป่วยเป็นหอบหืดถึงร้อยละ 20 - 40 ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดใดๆ ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะมีสารพิษ ได้แก่ นิโคติน ทาร์ และสารก่อมะเร็งอื่นๆ ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

 

ข้อมูล

http://www.thaihealth.or.th/Content/42600

http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=654

https://www.bumrungrad.com/th/pulmonary-lung-center-bangkok-thailand/conditions/lung-cancer

https://www.bangkokhospital.com/wattanosoth/web/th/site/all_about_cancer/view/99

สุขสาระ มีนาคม 2562

Tags : all บุหรี่ สุขภาพ

แก้ไขล่าสุด : 9 ก.ค. 2562, เวลา 09:39


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่