"มะกรูด" พืชสกุลส้ม

มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus)   มีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้เป็นเนื้อแข็ง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมาก กิ่งมีหนามแหลมยาว

มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus)  ชื่ออื่นๆ มะขู ส้มกรูด ส้มมั่วผี มะหูด ส้มมะกรูด มีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้เป็นเนื้อแข็ง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมยาว

ใบมะกรูด เป็นใบประกอบ ออกเป็นใบเดี่ยว มีก้านใบแผ่ออกเป็นครีบคล้ายแผ่นใบ ใบมีลักษณะหนา เรียบ มีผิวมัน สีเขียว และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบมีคอดกิ่วที่กลางใบทำให้ใบแบ่งออกเป็น 2 ตอน หรือ คล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่

ดอกมะกรูดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อมีสีขาว แทงออกบริเวณส่วนยอดหรือตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 1-5 ดอก หลีบดอกมีสีขาวครีม 5 กลีบ มีขนปกคลุม ภายในดอกมีเกสรมีสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย และเมื่อแก่จะร่วงง่าย

ผลมะกรูดหรือลูกมะกรูด มีลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ผลคล้ายผลส้มซ่า ผลมีขนาดใหญ่กว่าลูกมะนาวเล็กน้อย ลักษณะของผลมีรูปร่างแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวเปลือกมีสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระเป็นลูกคลื่นหรือเป็นปุ่มนูน ภายในเปลือกมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเป็นจำนวนมาก มีจุกที่หัว และท้ายของผล เมื่อสุก ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ด้านในผลประกอบด้วยเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแทรกบริเวณกลางผล 5-10 เมล็ด เนื้อผลมีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย

น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุนคล้ายใบ ใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนมะนาวได้ เช่นในปลาร้าหลน น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะกรูด มะกรูดมีส่วนเปลือกที่หนา ส่วนเปลือกนิยมนำผิวมาประกอบอาหารบางชนิดด้วย ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก

น้ำมะกรูดและใบมะกรูดใช้ดับกลิ่นคาวในอาหารได้ และยังใช้ประกอบอาหารคาวหวานได้หลายชนิด ใบมะกรูดนั้นใส่ในต้มยำทุกชนิด น้ำยาขนมจีน ยำหอย ใส่ในแกง เช่น แกงเผ็ด แกงเทโพ แต่ถ้าใส่มากเกินไปจะมีรสขมมีกลิ่นฉุน

ใบ และผล บางครั้งสามารถนำไปใช้ไล่แมลงบางชนิดได้ผลมะกรูดผ่าซีกที่บีบน้ำออกแล้ว ใช้เป็นยาดับกลิ่นในห้องสุขาได้ ใบมะกรูดอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน ที่มีส่วนช่วยยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง

การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ ทำให้ผมดกดำเงางาม แก้ปัญหาผมหงอก ผมร่วง เพราะความเปรี้ยวของน้ำมะกรูดมีฤทธิ์เป็นกรดช่วยขจัดคราบแชมพู และชำระล้างสิ่งอุดตันที่ตกค้างตามรูขุมขนบนหนังศีรษะ ทำให้หนังศีรษะสุขภาพดีขึ้น หรือใช้น้ำมะกรูดชโลมลงบนผมที่เปียก หมักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผมจะเงางามและมีน้ำหนัก

มะกรูดยังมีใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการสระผมนั่นเอง และก็สามารถนำไปล้างพื้นได้ด้วย ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งเช่นกัน

น้ำมันหอมระเหยของมะกรูดช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย การสูดดมผิวมะกรูดหรือน้ำมันมะกรูดจะช่วยลดความเครียด คลายความกังวล ช่วยให้จิตใจสงบนิ่ง

มะกรูดแก้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม โดยใช้เปลือกมะกรูดฝานบางๆ ใส่การบูรเล็กน้อย ชงกับน้ำเดือด นำมาดื่มอาการจะดีขึ้น

ผิวมะกรูด ไพล รากชะเอม ขมิ้นอ้อย เฉียงพร้า ปริมาณเท่าๆ กัน นำมาบดเป็นผง ชงละลายน้ำร้อนหรือต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ

ผิวมะกรูดสดฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณสัก 1 ช้อนแกง เติมการบูรหรือพิมเสนลงไป 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด แล้วจึงนำน้ำที่ได้มาดื่ม 1-2 ครั้ง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด

ผลมะกรูดผ่าซีกแล้วเติมเกลือ นำไปลนไฟให้เปลือกนิ่ม เวลาใช้ให้บีบน้ำมะกรูดลงไปในคอทีละน้อย จะช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอได้ หรือนำผลมะกรูดสดมาผ่าเป็น 2 ซีก นำไปดองกับเกลือหรือน้ำผึ้งประมาณ 1 เดือน แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่ม ช่วยฟอกโลหิตได้เป็นอย่างดี

ใช้เป็นยาแก้ปวดท้องในเด็กได้ โดยนำผลมะกรูดมาคว้านไส้กลางออก นำมหาหิงคุ์ใส่และปิดจุก นำไปเผาไฟให้ไหม้เกรียม นำมาบดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งไว้กินแก้อาการปวด หรือจะนำมาป้ายลิ้นเด็กอ่อนเพื่อเป็นยาขับขี้เทาก็ได้เช่นกัน

หลังแปรงฟันเสร็จให้ใช้น้ำมะกรูดมาถูบางๆ บริเวณเหงือก จะช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ดี

ใช้ใบมะกรูดสด 4-5 ใบต่อข้าว 1 ถัง ก่อนใส่ใบมะกรูดลงในถังข้าวสาร ให้ฉีกออกเป็นสองส่วนเพื่อให้กลิ่นออกมา มอดและแมลงจะไม่มากวนใจ

เปลือกมะกรูดตากแห้งและเผาไฟจะช่วยไล่ยุงได้

มะกรูดมีสรรพคุณช่วยขับระดู ฟอกเลือดให้คุณสุภาพสตรีได้ มะกรูดใช้อาบ เพื่อบำรุงผิวเสียได้ โดยการหั่นผิวมะกรูดไปต้มน้ำอาบ จะช่วยบำรุงผิวไม่ให้เสีย ป้องกันผิวแห้งกร้าน

กากของมะกรูดใช้แทนลูกเหม็นดับกลิ่นได้ โดยหลังจากบีบใช้น้ำมะกรูดแล้ว อย่าเพิ่งทิ้ง ให้หาภาชนะใส่ ไปวางไว้ในห้องน้ำ หรือห้องที่มีกลิ่นอับ เหม็น กลิ่นมะกรูดจะช่วยไล่กลิ่นเหล่านั้น แล้วแทนที่ด้วยกลิ่นที่หอมสดชื่นเป็นธรรมชาติได้

มะกรูดช่วยแก้กลิ่นเท้าเหม็นได้ โดยการนำมะกรูดฝานเป็นซีก นำไปขัดถูบริเวณเท้า ตามซอกเท้า นอกจากจะแก้กลิ่นเหม็น ยังเป็นการสครับขัดเท้าให้ขาวสะอาดอีกด้วย

มะกรูดใช้จัดการกับปลิงดูดได้ โดยการนำน้ำมะกรูดราดบนตัวปลิง ปลิงก็จะหลุดออกมา โดยที่ไม่ต้องดึงให้เจ็บปวดทรมานเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องก่อนนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการใช้ผิดวิธี

สุขสาระ มกราคม 2560

 

Tags : all สมุนไพร

แก้ไขล่าสุด : 2 ก.พ. 2562, เวลา 15:03


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่