การคุมกำเนิด
ในยุคปัจจุบัน สังคมทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงด้านการแพทย์ การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดได้กลายเป็นทางเลือกสำคัญของหลายครอบครัวที่ต้องการลดภาระทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สมาชิกในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของชุมชนมุสลิม การคุมกำเนิดยังคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลักศาสนาและความเชื่อในเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ครอบครัวจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด อาจประสบกับความยากลำบากในการจัดหาอาหาร การศึกษา และการดูแลสุขภาพให้กับบุตรหลาน ครอบครัวที่มีบุตรจำนวนมากอาจเผชิญกับภาระทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพของมารดาและหัวหน้าครอบครัวอีกด้วย
อิสลามเน้นย้ำว่าบุคคลและครอบครัวแต่ละกลุ่มมีเงื่อนไขและความจำเป็นที่แตกต่างกัน จึงไม่ได้ห้ามการคุมกำเนิดอย่างเด็ดขาด ศาสนาอิสลามไม่ได้กำหนดกรอบที่แข็งตัวหรือยึดติดกับบริบทเฉพาะยุค แต่เปิดโอกาสให้ผู้คนปรับใช้คำสอนตามความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย ตราบใดที่ยังคงอยู่ในกรอบของหลักศาสนา การคุมกำเนิดจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกกรณี
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ “หะลาลหะรอมทางการแพทย์” ของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ระบุว่า
ในปัจจุบัน การคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่น การใส่ถุงยางอนามัย การกินยาคุม การฉีดยาคุม การฝังยาคุม หรือการใส่ห่วงอนามัย การคุมกำเนิดแบบถาวร เช่น การทำหมัน ตามหลักการของศาสนาอิสลาม การคุมกำเนิดไม่อนุญาตในกรณีทั่วไป ยกเว้นในบางกรณี เช่น หากการตั้งครรภ์ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เป็นแม่ หรือในกรณีที่การตั้งครรภ์ที่ถี่เกินไปอาจทำให้บุตรมีสุขภาพอ่อนแอ เนื่องจากมารดาอาจผลิตน้ำนมได้ไม่เพียงพอ ในกรณีเช่นนี้ ศาสนาอนุโลมให้เว้นระยะการมีบุตรได้ เพื่อรักษาสุขภาพของทั้งมารดาและบุตร
การคุมกำเนิดในบริบทของศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามในทุกกรณี แต่ต้องดำเนินการด้วยความเหมาะสมและอยู่ในกรอบของหลักศาสนา พร้อมทั้งคำนึงถึงสุขภาพและความจำเป็นของครอบครัวเป็นสำคัญ
ประเด็นคำถาม : การรับประทานยาคุมกำเนิดของผู้หญิงเพื่อยับยั้งการมีประจำเดือนเพราะต้องการทำอิบาดะฮฺเกี่ยวกับศาสนาได้หรือไม่ อุลามะอฺส่วนใหญ่อนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องระวังมิให้การรับประทานยาคุมกำเนิดนั้นเกิดผลกระทบต่อตนเองเพราะหากเป็นอันตรายจะต้องหยุดประประทานทันที สำหรับการรับประทานยาคุมกำเนิดในเดือนรอมฎอนเพื่อที่จะให้ตนเองสามารถถือศีลอดได้ตลอดทั้งเดือน ความเห็นทางการแพทย์นั้น ความเห็นทางการแพทย์นั้นบอกว่าไม่เป็นการสมควร เพราะร่างกายของผู้หญิงถูกสร้างมาอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้วและในทางการแพทย์ร่างกายของผู้หญิงควรได้รับการละเว้นการถือศีลอดบ้างเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
ประเด็นคำถาม : ผู้ชายสามารถทำหมันถาวรได้หรือไม่ การทำหมันถาวรทำไม่ได้เเต่สามารถวางแผนเพื่อเว้นระยะการมีบุตรได้
แก้ไขล่าสุด : 3 ม.ค. 2568, เวลา 10:56