พังผืดรัดลำไส้

โรคพังผืดรัดลำไส้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากๆโรคหนึ่งเลยทีเดียว การรักษามักเริ่มด้วยการรักษาแบบประคับประคองก่อน ถ้าไม่หายจึงจะผ่าตัดต่อไป การผ่าตัดมีตั้งแต่ง่ายๆ ไปจนถึงยากสุดๆ

พังผืดรัดลำไส้

นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า

โรคพังผืดรัดลำไส้ ดูเป็นชื่อที่ค่อนข้างแปลกประหลาด และคนทั่วๆไปไม่ค่อยจะชินนัก แต่สำหรับศัลยแพทย์ แล้ว มันเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากๆโรคหนึ่งเลยทีเดียว การรักษามักเริ่มด้วยการรักษาแบบประคับประคองก่อน ถ้าไม่หายจึงจะผ่าตัดต่อไป การผ่าตัดมีตั้งแต่ง่ายๆ ไปจนถึงยากสุดๆ

ร่างกายเรานั้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยแล้ว เซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายก็จะไม่แบ่งตัว เพิ่มจำนวนอีก จะมีอยู่เท่าเดิมตลอดไปจนตาย เวลาที่ร่างกายเกิดแผลฉีกขาดขึ้นที่ใด หรืออวัยวะใด ที่ขาดแหว่งหายไป เราก็จะไม่สามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาได้แบบ จิ้งจก หรือปลาดาว ซึ่งมีคุณสมบัติ Regeneration อยู่ แต่ร่างกายของคนเราใช้การซ่อมแซมแบบ ปะผุรถ นั่นก็คือ สร้างเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อกับส่วนเดิม เนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้เรียกว่า พังผืด (fibrous tissue) ซึ่งก็คือ แผ่นสีขาวๆ เหนียวๆ ที่เราเคี้ยวไม่เข้า และต้องคายทิ้งเวลารับประทานเนื้อนั่นเองครับ

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ผิวหนังของเรานั้น เมื่อฉีกขาดออกไป ก็จะมีแผลเป็นเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เนื้อเยื่อแบบเดิม ถ้าเราเอาแว่นขยายส่องดูจะพบว่าบริเวณนั้น มีลักษณะไม่เหมือนส่วนอื่น เช่น ไม่มีขนขึ้น ไม่ยืดหยุ่นเหมือนเดิม และมักฉีกขาดง่ายแพ้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ ยิ่งเป็นหนังที่ปะมาจากส่วนอื่นเนื่องจากถูกไฟไหม้เราจะยิ่งเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น

แผลเป็นเหล่านี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะด้านนอกเท่านั้น แม้แต่ในร่างกายก็เป็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องท้อง หลังจากที่ถูกเปิดออกและผ่าตัดไปแล้ว จะต้องเกิดเป็นแผลเป็นอยู่ภายในท้องเสมอ ต่างกันแต่เพียงจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

พังผืด แผลเป็นที่อยู่ในช่องท้องนี้มักจะก่อให้เกิดปัญหาได้มากมายหลายประการ เนื่องจากภายในช่องท้องมีลักษณะพิเศษกว่าส่วนอื่นๆของร่างกาย

ในช่องท้องของเรานั้นเหมือนห้องโถงใหญ่ๆ และสิ่งที่อยู่ในท้องส่วนใหญ่ที่สุดนั้นก็คือ ลำไส้เล็กซึ่งยาวประมาณ 6 เมตร ขดไปมาอยู่เต็มช่องท้องไปหมด ลำไส้เล็กนี้มีหน้าที่ดูดซึมอาหารไปเลี้ยงร่างกายเรา และขับอาหารจากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ใหญ่ การขับดันอาหารนี้ จะอาศัยหลักการเดียวกับ หนอน หรืองู นั่นก็คือ มีการบีบตัวในด้านส่วนต้นของลำไส้ พร้อมๆ กับการคลายตัวในส่วนถัดไป ทำให้อาหารเคลื่อนไปข้างหน้าได้ หลังจากนั้นส่วนที่คลายตัวก็จะบีบตัวบ้าง และส่วนที่อยู่ถัดจากมันไปก็จะคลายตัวแทน อาหารก็จะเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนไปถึงลำไส้ใหญ่และกลายเป็นอุจจาระในที่สุด

การเคลื่อนไหวแบบนี้ ต้องใช้พื้นที่มากเพื่อที่จะบีบตัวได้คล่องแคล่ว และจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ  ดังนั้น พื้นที่ในช่องท้องจึงโล่งกว้าง อวัยวะอื่นๆ ถูกจัดให้อยู่ริมๆ ห้องทั้งหมด เหลือตรงกลางช่องท้องไว้ให้ลำไส้เล็กได้ขยับตัวอย่างเต็มที่

แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง และไปสร้างแผลเป็นขึ้น แผลเป็นดังกล่าวจะยื่นออกมากีดขวางการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้ทำได้ไม่ดี บางครั้งถึงกับไปบีบรัดเอาลำไส้เล็กของเราจนคอดกิ่ว หรือหนักกว่านั้นก็คือ บีบจนเลือดไม่มาเลี้ยงและตายไป ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที คนๆนั้นก็จะเสียชีวิตอย่างแน่นอนที่สุด

เมื่อถูกบีบรัดเล็กน้อย ลำไส้เล็กจะพยายามต่อสู้โดยการบีบตัวแรงขึ้นเพื่อให้อาหารผ่านไปให้ได้ เราจึงรู้สึกปวดท้องแบบเหมือนมีอะไรมาบิดที่ท้องเป็นระยะๆไป และเริ่มถี่มากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าหากบีบจนแน่น อาหารวิ่งไม่ได้ ก็จะมีอาการอาเจียน, ท้องอืด, ปวดท้อง,ไม่ถ่าย, ไม่ผายลม ถ้ายังปล่อยไว้อยู่ ลำไส้ที่ถูกบีบจะเริ่มตาย ก็จะก่อสารพิษออกมาและถูกดูดซึมไปในระบบหมุนเวียนโลหิต เกลือแร่ต่างๆจะไหลออกมาอยู่ในบริเวณเนื้อที่ถูกบีบรัดนั้น  คนๆนั้นก็จะเริ่มมีไข้ขึ้น ซึมลง และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะเสียชีวิตในที่สุด

การรักษานั้น ธรรมดาแล้ว ควรรักษาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือ เมื่อพังผืดไปรัดลำไส้ เราก็ควรเข้าไปตัดมันออก แต่ปัญหาไม่ได้มีอยู่แค่นั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อเราไปตัดมันออก ก็เท่ากับเราสร้างแผลใหม่ขึ้น มันก็จะเกิดเป็นแผลเป็นใหม่ขึ้นอีก เกิดเป็นพังผืดอีก และกลับมารัดอีก มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น การรักษาในปัจจุบัน จึงใช้การรักษาแบบประคับประคองก่อน โดยหวังว่า เมื่อมันอยู่กันมาได้อย่างดีตั้งนานแล้ว  ถ้าหากได้ทำการออมชอม และแก้ไขดีๆ มันก็อาจจะกลับมาดีเหมือนอย่างเดิมได้โดยไม่ต้องไปผ่าตัดไปยุ่งกับมัน วิธีการรักษาจึงเริ่มด้วยการให้สารน้ำและเกลือแร่ เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย ใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะและลำไส้ เพื่อไปดูดลมออกให้มากที่สุด หวังให้ส่วนของลำไส้เล็กที่ถูกบีบรัดนั้น ยุบตัวลง และดิ้นหลุดออกมาจากบริเวณที่ถูกบีบรัดนั้นได้ ก็จะทำให้หายได้ในที่สุด

แต่ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเป็นอยู่บ่อยๆ มาก หรือมีไข้ขึ้น ปวดท้องมากขึ้น มีอาการขาดน้ำมากขึ้น ไม่มีผายลมออกมาเลย ก็คงต้องรีบนำตัวไปผ่าตัดให้ไวที่สุด เพราะถ้ายิ่งช้าก็จะยิ่งเป็นผลร้ายกับลำไส้ที่ถูกบีบรัดนั้น และเป็นผลร้ายกับตัวผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ สิ่งเหล่านี้จะต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของศัลยแพทย์ผู้ดูแล ยิ่งเคยผ่านคนไข้มามากเท่าไร จะยิ่งกะเวลาได้ดีมากขึ้นเท่านั้นว่า เมื่อไรควรจะผ่าตัด เมื่อไรควรจะรอก่อนได้  แต่ทั้งนี้ แพทย์ที่มีประสบการณ์นั้นจะต้องให้เวลากับผู้ป่วยได้อย่างพอเพียง เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด มีทีมงานที่ดี ร่วมกับประสบการณ์ที่มีมายาวนาน จึงจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดพ้นจากความเจ็บป่วยนั้นได้

พังผืดรัดลำไส้จึงเป็นโรคที่จะต้องนอนโรงพยาบาล และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากศัลยแพทย์ และต้องได้รับการผ่าตัดทันทีเมื่อจำเป็น จึงจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้  วัสลามฯ

สุขสาระ เมษายน 2553

Tags : all โรค ร่างกาย พบหมอ

แก้ไขล่าสุด : 30 ต.ค. 2562, เวลา 22:59


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่