ปอดรั่ว
ปอดรั่วเป็นโรคหนึ่งที่เป็นภัยเงียบมีอันตรายถึงชีวิต สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่สูบบุหรี่หนัก วัยทำงานที่ได้รับมลภาวะทางอากาศ หรือวัยรุ่นโตเร็ว ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏอาการ แต่จะรู้ตัวอีกทีเมื่อพบว่า เหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือไอแห้งเฉียบพลัน หากรักษาไม่ทันเวลามีโอกาสเสียชีวิตได้
โรคปอดรั่ว คือ ภาวะที่ถุงลมในปอดแตก ทำให้อากาศรั่วเข้าไปแทรกอยู่ในช่องอกจนเบียดเนื้อปอดและหัวใจ ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ ส่งผลต่อการหายใจ เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เพราะภาวะดังกล่าวอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หากลมที่รั่วนั้นกดเบียดหัวใจรุนแรง
ปอดรั่ว แบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ
1. ภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ (primary spontaneous pneumothorax : PS) คือ โรคปอดรั่วในคนที่ไม่ได้มีตัวโรคที่เนื้อปอดซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึง 30 ปี หรือช่วงวัยรุ่นที่ผอมสูงโตเร็วมักพบว่ายอดปอดส่วนบนเป็นถุงลมโป่งพองเฉพาะจุด ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่จากการวิเคราะห์ ที่มีความเป็นไปได้คืออาจเป็นจากพันธุกรรม หรือช่วงที่วัยรุ่นโตเร็วปอดกับช่องอกขยายตัวไม่สัมพันธ์กันทำให้ยอดปอดเกิดถุงลมโป่งพอง อีกกลุ่มหนึ่งคือ คนที่เกิดภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีชื่อเรียกว่า โรคลมรั่วตามรอบเดือน (Catamenial pneumothorax) เป็นภาวะที่มีเซลล์เยื่อบุมดลูกฝังในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีลมรั่วในขณะที่มีประจำเดือน พบได้ไม่บ่อยแต่ต้องไปรับการผ่าตัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน
2.ภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ (secondary spontaneous pneumothorax : SSP) มักเกิดในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด และเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคปอดอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งมักพบว่าถุงลมโป่งพองจะเป็นแบบกระจาย เมื่อแตกออกมาลมรั่วเข้าช่องอก อาการรุนแรงกว่าปอดรั่วแบบปฐมภูมิ เนื่องจากการทำงานของปอดเสียไป
สำหรับในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มภาวะปอดรั่วแบบทุติยภูมิ จะมีจำนวนมากกว่าภาวะปอดรั่วแบบปฐมภูมิ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มทุติยภูมิคือ การสูบบุหรี่จัดจนเป็นสาเหตุให้เกิดถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีผลกระทบทำให้ถุงลมโป่งพองได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการแบบเฉียบพลัน แนวทางการรักษาในอดีตครั้งแรกยังไม่ต้องผ่าตัด แค่ใส่สายระบาย 3-7 วันรูรั่วสามารถหายไปได้เอง แต่ปัญหาคือโอกาสเป็นซ้ำสูงถึง 30% ปัจจุบันเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการผ่าตัดปอดรั่วที่ได้มีการพัฒนาด้านการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดแผลเล็กแผลเดียวขนาดใกล้เคียงกับการใส่สายระบาย จึงมีผู้ป่วยต้องการผ่าตัดอาการปอดรั่วตั้งแต่ครั้งแรกมากขึ้น
สำหรับการตรวจวินิจฉัยเริ่มจากเอกซเรย์ขั้นต้นเพื่อดูว่ามีลมรั่วหรือไม่ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อหาตำแหน่งของถุงลมโป่งพองเพื่อวางแผนการผ่าตัด ในอดีตการผ่าตัดต้องลงแผลใหญ่ ใส่ที่ถ่างขยายซี่โครงเข้าช่องอกด้านข้าง แต่ปัจจุบันเป็นการผ่าตัดแผลเล็กขนาด 2-3 เซนติเมตร เข้าทางช่องซี่โครง โดยใช้กล้องร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัด (Video-Assisted Thoracic Surgery: VATS) และสามารถใช้อุปกรณ์ที่ตัดพร้อมกับเย็บได้ในเวลาเดียวกัน ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และจะมีสายระบายประมาณ 2 วัน หลังฟื้นตัวอาการดีขึ้นเอาสายออกสามารถกลับบ้านได้
ข้อควรระวังภายหลังการผ่าตัดคือ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกห้ามคนไข้ยกของหนัก เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้แผลผ่าตัดภายในปริได้ ขณะที่แผลผ่าตัดภายนอกจะหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยที่เป็น โรคลมรั่วตามรอบเดือน แนวทางการรักษาคือ แพทย์จะให้ฮอร์โมนหยุดประจำเดือนเสมือนเป็นวัยทองประมาณ 6-9 เดือน นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแหล่งมลภาวะต่างๆ ไม่ควรวิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายภายนอกอาคารในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และควรใส่หน้ากากป้องกันหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร
อาการของภาวะปอดรั่ว
ภาวะ Pneumothorax จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ และในบางกรณีภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการหลัก ๆ ของ Pneumothorax ที่พบได้ คือ หายใจไม่อิ่ม และมีอาการเจ็บแปล๊บบริเวณหน้าอกข้างที่มีความผิดปกติ โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า แต่บางรายอาจมีอาการน้อยมากจนผู้ป่วยไม่ได้สังเกต ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองมีความผิดปกติจนกระทั่งผ่านไปหลายวันแล้ว
ทั้งนี้ หากมีอากาศแทรกอยู่ภายในช่องปอดเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจะยิ่งมีอาการที่รุนแรงขึ้น ได้แก่
- แน่นหน้าอก
- หายใจถี่หรือหายใจหอบเหนื่อย
- ผิวหนังบางบริเวณเขียวคล้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- อ่อนเพลียง่าย
- วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นผิดปกติ
- เกิดภาวะช็อก
หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ข้อมูล
https://www.ryt9.com/s/prg/3073033
https://www.pobpad.com
สขุสาระ มกราคม 2520
แก้ไขล่าสุด : 2 ต.ค. 2567, เวลา 07:39