ชุมชนรักษ์สุขภาวะ ตอน.....รักแรกพบที่บ้านทอนตรน

จะพาไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 28  กิโลเมตร ทางเข้าหมู่บ้านเต็มไปด้วยป่าต้นยาง ภูเขาสลับซับซ้อน จนไม่มีใครนึกคิดว่าจะมีสิ่งสวยงามและผู้คนที่มีน้ำใจอาศัยอยู่

เรื่องเล่าโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะ

ตอน.....รักแรกพบที่บ้านทอนตรน

เขียน : จันทรา

สวัสดีค่ะ วันนี้จะพาไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองของจังหวัดพัทลุงประมาณ 28  กิโลเมตรและเป็นทางที่หากไม่ใช่คนในพื้นที่เข้าไปจะรู้สึกสับสนเล็กน้อย ทางเข้าหมู่บ้าน เป็นถนนหนทางที่เต็มไปด้วยป่าต้นยาง ภูเขาสลับซับซ้อน จนไม่มีใครนึกคิดว่าจะมีสิ่งสวยงามและผู้คนที่มีน้ำใจอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ภาพที่มีทุ่งนาป่าภูเขาล้อกับสายลมและแสงแดด 

เมื่อเข้าถึงหมู่บ้านจะรู้สึกถึงความเงียบสงบ ป่าไม้ที่ให้ความร่มรื่นชวนผ่อนคลาย  ใจกลางหมู่บ้านมีมัสยิดตั้งอยู่เพื่อแสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมของมุสลิมไทย  มีเสียงน้ำไหลจากลำธารบริเวณข้างมัสยิดฟังดูแล้วน่ารื่นรมย์ เมื่อมองดูผู้หญิงในชุมชนพวกเธอใส่ผ้าถุงที่มีลายปักแบบชาวใต้หลากหลายสีสันส่วนผู้ชายใส่กางเกงธรรมดามีบ้างบางคนใส่ผ้าโสร่งหรือผ้านุ่งอย่างหนึ่งที่ใช้ผ้าผืนเดียวเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุงแบบเดียวกับผ้าถุง ผ้าซิ่นสำหรับผู้ชายมุสลิมสวมใส่  ทุกคนแตกต่างกันแต่ที่เหมือนกันคือรอยยิ้ม  รอยยิ้มที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของคนในชุมชน เมื่อเราเดินออกมาสัมผัสกับบรรยากาศในชุมชนจะเห็นว่ามีภูเขาเรียงรายทับซ้อนกันภูเขาที่เด่นชัดและเมื่อไปถึงต้องหันไปมองชื่อว่า “ภูเขานมสาว” หรือ “ภูเขาพระยากงจีน” ที่มีลักษณะเด่นคล้ายหน้าอกหญิงสาวตามชื่อเรียกขาน

ชื่อของชุมชนแห่งนี้คือชุมชนบ้านทอนตรน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนได้ให้ความหมายของชื่อชุมชนว่า “ทอน” หมายถึงภูเขาที่มีมากมายในชุมชนเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดเป็นการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนคำว่า “ตรน” หมายถึงเครื่องทอผ้าชนิดหนึ่งเป็นไม้มีลักษณะคล้ายกันกับการทอผ้าในภาคเหนือซึ่งในปัจจุบันได้หายสาบสูญไปหมดแล้วจากชุมชน  แต่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่มีอายุยืนยาวยังสามารถจดจำและอธิบายรูปลักษณะเหล่านั้นได้  การที่ชุมชนพัฒนามาจนถึงปัจจุบันจากผู้นำชุมชนและหน่วยงาน องค์กรหลายแห่ง สสม.เป็นองค์กรหนึ่งที่เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนและผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบรักษ์สุขภาวะ

ปลายปี 2558  ศูนย์กิจกรรม สสม.ภาคใต้ตอนกลาง ได้นำโครงการมัสยิดครบวงจรเข้าร่วมชี้แจงกับทางผู้นำชุมชน จึงได้ตกลงทำโครงการมัสยิดครบวงจรขึ้น  จากผลงานของผู้นำชุมชนและคนในชุมชนทำให้มัสยิดมีการปรับปรุงพัฒนากลายเป็นมัสยิดต้นแบบของอีกหลายแห่ง ได้รับรางวัลมัสยิดส่งเสริมสุขภาพชนะเลิศของระดับอำเภอกงหรา  และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับจังหวัดพัทลุง  ต่อมาเมื่อโครงการมัสยิดครบวงจรสำเร็จ ทาง สสม.ภาคใต้ตอนกลางจึงเสนอโครงการชุมชนรักษ์สุขภาวะให้กับผู้นำชุมชนบ้านทอนตรน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่และอาจจะเหนื่อยยากสำหรับคนทำงานขับเคลื่อนในชุมชน  และอาจจะเปลี่ยนแปลงชุมชน ผู้คนในชุมชนได้ในอนาคต จากการชี้แจงปรึกษาหารือระหว่างผู้นำชุมชนกับสสม.ภาคใต้ตอนกลางทำให้ได้ข้อตกลงว่าเราจะขับเคลื่อนชุมชนรักษ์สุขภาวะไปด้วยกัน จึงเริ่มดำเนินการในปี 2559 เป็นระยะเวลา 1 ปี 

เมื่อเข้ามาขับเคลื่อนงานชุมชนทำให้ได้พบกับวัฒนธรรมอันดีงามและความมีน้ำใจของผู้คนในชุมชนที่ไม่ว่าเดินไปบ้านหลังไหนเราสามารถนั่งกินข้าวได้ทุกบ้าน  ทุกๆบ้านมีผลไม้มีผักสวนครัวที่สามารถหาทำกับข้าวแต่ละมื้อโดยที่ไม่ต้องพึ่งตลาดดังเช่น คนเมือง  เมื่อถึงฤดูการทำนาทุกคนจะช่วยกันดำนาเมื่อข้าวออกผลผลิตมาส่วนใหญ่จะเก็บไว้กินสำหรับทั้งปีส่วนที่เหลือจากการเก็บนั้นก็นำไปขาย ส่วนน้ำในชุมชนนั้นทางชุมชนมีทรัพยากรน้ำที่มีคุณค่าและสำคัญกับชาวบ้านมาก สายน้ำที่ไหลตัดใจกลางหมู่บ้านนั้นเป็นน้ำสายเดียวกันที่ชาวบ้านดื่มกินและอาบน้ำทุกวัน โดยการได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลให้มีการทำน้ำประปาหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี แต่ในความอุดมสมบูรณ์นั้นยังมีความไม่สมบูรณ์ซ่อนอยู่ เนื่องจากชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ส่วนมากจะเป็นผู้สูงวัย ขณะที่ลูกหลานต่างออกจากหมู่บ้านเพื่อไปหางานทำ หรือไปศึกษาหาความรู้จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ  ในเขตเมือง เหมือนเช่นชุมชนชนบททั่วไป

จากชุมชนที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองและข้อมูลความรู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวชุมชนได้ ในเรื่องสุขอนามัย เช่น การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เคยเกิดขึ้น

สสม. จึงได้จัดกิจกรรมเสริมขึ้นอีกหลากหลายกิจกรรมร่วมกับชาวชุมชน เพื่อให้ชาวชุมชนได้รับความรู้และพัฒนาชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไป

สุขสาระ มิถุนายน 2560

Tags : all ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สสม.

แก้ไขล่าสุด : 16 พ.ค. 2562, เวลา 15:20


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่