อิสลามกับการชันสูตรพลิกศพ และการทดลองในมนุษย์

หลักการอิสลามว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ และการทดลองในมนุษย์ ทำได้มากน้อยแค่ไหน เนื้อหาจากหนังสือหะลาลหะรอมทางการแพทย์ เรียบเรียงโดย นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต

ประเด็นทางการแพทย์ การตรวจศพเป็นกระบวนการตรวจหลังตายเพื่อตรวจหาเหตุและพฤติการณ์การตายที่ยังไม่ชัดแจ้ง โดยแพทย์อาจจะสงสัยสาเหตุของการเสียชีวิต หรือ เจ้าพนักงานชันสูตรสงสัยพฤติการณ์การตายซึ่งการตรวจ ศพ (Autopsy) โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

1. การตรวจศพทางวิชาการ (Clinical / Academic Autopsy) เป็นการตรวจศพที่ตายตามธรรมชาติ คือ เกิดตาย แก่ตาย และการป่วยตาย การผ่าศพประเภทนี้ ต้องได้รับการอนุญาตจากญาติสายตรง ญาติสายตรงผู้มีสิทธิเรียงตามลำดับ ความใกล้ชิดจากมากไปหาน้อย คือ คู่สมรส บุตรที่บรรลุนิติภาวะ บิดา มารดา พี่น้องที่บรรลุนิติภาวะ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา บุคคลที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่หรือผู้อุปการะ หากกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาติดต่อ ต้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้ลงนามอนุญาตตรวจศพ จุดประสงค์ของการตรวจศพทางวิชาการ คือ แพทย์ ต้องการทราบสาเหตุการตาย หรือ พยาธิสภาพของผู้ป่วย ผลการตรวจศพประเภทนี้ กระทำโดย “พยาธิแพทย์” ผลการตรวจจะนำมาใช้ในทางวิชาการเท่านั้น

2. การตรวจศพทางคดี (Medico legal / Forensic Autopsy) เป็นการตรวจศพที่เสียชีวิตในลักษณะผิดธรรมชาติ เช่น การตายกะทันหัน ตายมีข้อสงสัยมีเงื่อนงำ การตายที่มีการฟ้องร้องทางคดีถูกฆาตกรรมหรือการตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงาน การตายโดยผิดธรรมชาติ คือ 1) ฆ่าตัวตาย 2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4) ตายโดยอุบัติเหตุ 5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ทั้งนี้ ในการตรวจศพทางคดีกฎหมายกำหนดให้ผ่าศพได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตจากญาติสายตรง วัตถุประสงค์ในการชันสูตรพลิกศพทางคดี คือ ต้องการจะให้ผู้ที่ทำการชันสูตรพลิกศพหรือผู้ที่ได้ทำการผ่าศพพิสูจน์รายงานความเห็นว่า 1) ผู้ตายเป็นใคร 2) ตายมานานเท่าใด 3) สาเหตุการตาย 4) พฤติการณ์ที่ตาย

ผู้ที่มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพประกอบด้วย 1. พนักงานสอบสวน 2. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 3. แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้แก่ แพทย์นิติเวช / แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ / แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด / แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน / แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับการตรวจศพทางคดีในประเทศไทยทำได้ 2 แบบ คือ

1) การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่า คือ การตรวจสภาพภายนอกของศพ ดูเพศ อายุ เชื้อชาติ สิ่งของติดตัว ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพภายหลังตายเพื่อประมาณเวลาตาย ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตาย การตรวจดังกล่าวจะต้องพลิกศพดูทั้งด้านหน้าและด้านหลังของศพ จึงใช้คำว่า “พลิกศพ”

2) การชันสูตรพลิกศพโดยการผ่าศพตรวจ เป็นการกระทำเมื่อเหตุจำเป็นเพื่อหาสาเหตุการตายในกรณีที่การพลิกศพไม่สามารถบ่งบอกสาเหตุการตายได้ชัดเจน

สำหรับประเด็นการตรวจศพมุสลิมนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือที่ มท387/2500 ลงวันที่ 31 มกราคม 2500 มีข้อความว่า “ขอให้งดเว้น การผ่าศพชาวไทยอิสลามที่ถูกฆาตกรรมแทงตาย ยิงตายหรือโดยอุบัติเหตุ หรือถึงแก่กรรมโดยมิได้ปรากฏเหตุ” สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกระเบียบและหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพฉบับที่ 3 พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ข้อ 319 มีข้อความว่า “การชันสูตรพลิกศพ ผู้ที่เป็นชาวไทยอิสลาม ถ้าจะต้องทำการดังกล่าวในวรรคก่อน ก็ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการผ่าศพ ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการผิดต่อลัทธิศาสนาอิสลาม

สำนักจุฬาราชมนตรี มีหนังสือ ที่ สพ223/2541 วัน ที่ 12 ตุลาคม 2541 เรื่องขอความกระจ่างเกี่ยวกับการผ่าศพชาวไทยอิสลาม ความว่า “มนุษย์ทุกคนที่พระองค์อัลลอฮฺทรงสร้างมานั้นเป็นสิทธิของพระองค์ มุสลิมจึงเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า ต้องรักษาไว้ในสภาพเดิมทุกประการ หมายถึงศพอยู่ในสภาพใดก็ให้อยู่ในสภาพนั้นห้ามมิให้ผู้ใดตัดหรือทำลายศพโดยเด็ดขาด” อย่างไรก็ตาม จากรายงานการเก็บข้อมูลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศมุสลิม ศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยหัวข้อเรื่อง “ระบบการชันสูตรพลิกศพในประเทศมุสลิมกรณีศึกษาเฉพาะประเทศอิหร่าน และอียิปต์” โดย ว่าที่ร้อยตรี พรินทร์ เพ็งสุวรรณ พบว่าในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนและแพทย์จะดำเนินการกับศพที่นับถือศาสนาอิสลามจำแนกวิธีปฏิบัติได้ 3 ประเภท ดังนี้ คือ 1) แพทย์จะไม่ทำการชันสูตรพลิกศพ 2) แพทย์ทำการตรวจศพแต่เพียงภายนอก และ 3) แพทย์ทำการผ่าศพเพื่อพิสูจน์ส่วนการชันสูตรพลิกศพตามหลักศาสนาอิสลามจัดแบ่งประเภทไว้ 3 ประเภทคือ การชันสูตรพลิกศพ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้านศาสนบัญญัติ การชันสูตรพลิกศพเพื่อพิสูจน์โรคภัย การชันสูตรพลิกศพเพื่อวิชาการทางการแพทย์ ซึ่งมุมมองของนักวิชาการมุสลิมในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่คัดค้านการผ่าศพ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาเกียรติของผู้ตาย และฝ่ายที่อนุญาตให้ผ่าศพ โดยเหตุผลว่า เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาในคดีอาญา หรือวินิจฉัยโรคซึ่งอนุญาตให้ทำ

ประเด็นทางศาสนาอิสลาม จากการศึกษาทัศนะของนักวิชาการมุสลิมต่อการชันสูตรพลิกศพและผ่าศพสามารถจำแนกแนวคิดออกเป็น 2 สมัย คือ สมัยยุคดั้งเดิมที่ยึดหลักตามบทบัญญัติทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เห็นด้วยต่อการผ่าศพ และยุคสมัยใหม่ที่อนุญาตให้มีการชันสูตรพลิกศพและผ่าศพได้ในกรณีที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการทางคดีอาญาและเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการชันสูตรศพที่ชอบด้วยบทบัญญัติอิสลาม ไว้ดังนี้ 1) ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2) ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และ 3) ต้องไม่กระทำในลักษณะที่เป็นการประจานศพ

การชันสูตรพลิกศพและการผ่าศพทางศาสนาอิสลามเดิมที่เป็นที่ต้องห้ามแต่เมื่อพิจารณาถึงความจําเป็นและหลักประโยชน์ ทําให้การชันสูตรศพที่ต้องห้ามกลายเป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการชันสูตรพลิกศพจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบข่ายที่จำเป็นเท่านั้น ห้ามมิให้ล่วงเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาตผู้ทำการชันสูตรพลิกศพหรือผ่าศพพึงต้องตระหนักตลอดเวลาว่า อนุญาตให้กระทําการตรวจชันสูตรพลิกศพได้ภายในขอบข่ายซึ่งมีความจําเป็นเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งความสงสัยเท่านั้น การขอตรวจศพ หรือ การชันสูตรพลิกศพตามแนวทางของศาสนาอิสลามนั้นปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการตรวจศพและการชันสูตรศพน้อยมาก และขาดความรู้ความสามารถที่จะกระทำได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ตามหลักการของศาสนาอิสลามกำหนดให้กระทำต่อผู้ตายเสมือนเขายังมีชีวิตอยู่ แต่หากเกิดความจำเป็นก็ให้พิจารณาตามความสำคัญ เช่น 1. การผ่าศพเพื่อการศึกษาทางวิชาการ สามารถทำได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงหากมีศพอยู่ จำนวน 2 ศพ เป็นศพที่เป็นมุสลิม จำนวน 1 ศพ และศพที่ไม่ใช่มุสลิมอีกจำนวน 1 ศพ ก็ให้นำศพของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมไปศึกษาก่อน ทั้งนี้ เพราะหลักการของศาสนาอื่น บัญญัติว่าการบริจาคศพเพื่อการศึกษาถือว่าเป็นการทำการกุศล 2. การผ่าศพเพื่อผลทางคดีอาญาเป็นการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ศาสนาอนุญาตแต่ต้องดำเนินการด้วยความรัดกุมที่สุด 3. การผ่าศพเพื่อตรวจโรค กรณีดังกล่าวหากมีความจำเป็นต้องผ่าศพและการผ่าศพนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม ก็ถือว่าทำได้เพราะเป็นเรื่องจำเป็น

ในส่วนของสำนักจุฬาราชมนตรี ได้มีบัญญัติซึ่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2549 ให้กระทำการโดยยึดหลักใหญ่ คือ การให้ความเคารพต่อศพ แต่หากมีเหตุจำเป็นจะต้องผ่าพิสูจน์ศพก็ให้ทำได้เท่าที่มี ความจำเป็นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากจำเป็นจริงๆ ศาสนาอนุญาตให้ผ่าศพได้เพื่อความเป็นธรรมทางคดีอาญา และความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นคำถาม : หากศพของมุสลิมมีความจำเป็นต้องผ่าพิสูจน์ศพ การผ่าพิสูจน์ศพจะใช้เวลานานแค่ไหน จะเสร็จทันใน 1 วัน หรือไม่

คำตอบ : ขั้นตอนและกระบวนการการผ่าพิสูจน์ศพในประเทศไทยนั้นยังยุ่งยากมาก และเป็นการยากที่จะทำให้เสร็จ ภายใน 1 วัน แต่ถ้าศพนั้นเป็นศพของมุสลิมผู้ผ่าพิสูจน์ศพก็จะกระทำอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ไม่ได้มีตัวบทที่จะกำหนดว่าจะต้องฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง แต่บอกไว้ว่าไม่ให้เก็บศพไว้ข้ามวันในกรณีที่มีการตายตามธรรมชาติ แต่หากมีเหตุจำเป็น เช่น มีคดีฟ้องร้องก็สามารถยืดเวลาออกไปได้ เพื่อหาความยุติธรรมแต่เมื่อเสร็จแล้วให้รีบจัดการให้เร็วที่สุด

ที่มา: หนังสือหะลาลหะรแมทางการแพทย์ โดย มูลนิธิสร้างสุขุมสลิมไทย (สสม.)

เรียบเรียงโดย นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต

Tags : all ร่างกาย อื่นๆ

แก้ไขล่าสุด : 10 มี.ค. 2568, เวลา 12:03


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่