คนท้อง ต้องระวัง ป้องกันวูบ

การที่ คนท้องหน้ามืด อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ วูบ คล้ายๆ จะเป็นลมอยู่บ่อยๆนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลทำให้ความดันต่ำลง

คนท้อง ต้องระวัง ป้องกันวูบ

จากเหตุสะเทือนใจ สาวตั้งท้อง 6 เดือน พลัดตกลงรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์สถานีทับช้างจนเสียชีวิตเมื่อ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่าขณะตั้งครรภ์  จะมีอาการวูบเช่นนี้จริงๆ หรือ

สุขสาระไม่รอช้า รีบหาข้อมูลมาฝากคุณผู้อ่าน ก็ได้ความดังนี้ ในช่วงตั้งท้องสามเดือนแรก เป็นช่วงเวลาที่อาจต้องเจอกับอาการหน้ามืด เวียนหัวได้ค่อนข้างมาก และบางคนอาจมีอาการไปจนถึงช่วงคลอดเลยก็มี การที่ คนท้องหน้ามืด อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ วูบ คล้ายๆ จะเป็นลมอยู่บ่อยๆนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลทำให้ความดันต่ำลง อีกทั้งการที่ระบบการเผาผลาญอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จนทำให้ คนท้องหน้ามืด วูบบ่อยขึ้นได้

            นอกจากนี้ คนท้องที่มีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป ทำให้หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนท้องต้องเดินทาง และต้องมาเจอกับสภาพอากาศที่ร้อน และความแออัด ก็อาจทำให้เกิดอันตรายจากอาการหน้ามืด และวูบตามมาได้ รวมทั้งการที่คนท้องอาจมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ก็เป็นสาเหตุของ อาการหน้ามืด และวูบได้เช่นกัน

คนท้องหน้ามืด วูบบ่อย ทำอย่างไรดี

  1. เมื่อรู้สึกหายใจไม่สะดวก ให้นั่งพักและทำสมาธิหายใจเข้า ออก อย่างช้าๆ ถ้ารู้สึกหน้ามืดจะเป็นลมให้นั่ง หรือนอนลง ก้มศีรษะลงระหว่างเข่า เพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนขึ้นไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น
  2. เดินขึ้นบันไดอย่างช้าๆ
  3. ขณะเดิน ควรหยุดพักเป็นช่วงๆ
  4. ควรเดินไปมาสลับกันไปด้วย ถ้าต้องยืนเป็นเวลานาน
  5. พยายามอย่าโค้งหรืองอตัว ซึ่งจะทำให้การหายใจไม่สะดวก และควรใช้หมอนหนุนศีรษะ และไหล่ขณะนอน
  6. รับประทานอาหารว่างบ่อยๆ ในระหว่างวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
  7. เวลาตื่นนอนในตอนเช้า ควรลุกขึ้นจากที่นอนอย่างช้าๆ และนั่งที่ขอบเตียงก่อนสักครู่ จึงค่อยลุกขึ้นยืน
  8. ไม่ควรนอนหงาย โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

คนท้องกับการโดยสารเครื่องบิน  ปกติมีคำแนะนำว่า สตรีมีครรภ์ไม่ควรขึ้นบินก่อนช่วง 12 สัปดาห์ หรือช่วงหลังจาก 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ จากการวิจัยของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ (Royal College of Obstetricians and Gynaecologists) พบว่า การเดินทางบนเครื่องบินไม่มีความเสี่ยงต่อหญิงมีครรภ์หรือลูกในครรภ์ หากขึ้นบินในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดีอาจเพิ่มโอกาสกระตุ้นให้เกิดการคลอด ดังนั้น การอยู่นิ่งๆ กับที่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะนอกจากอาจจะเกิดปัญหา หรือความยุ่งยากในการคลอดกว่าหมื่นฟุตบนฟ้าได้ อย่างชัดเจนแล้ว คุณอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการเส้นเลือดขอดได้มากขึ้นด้วย

แต่หากคุณต้องขึ้นเครื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองนำเคล็ดลับในการเตรียมตัวเหล่านี้ไปใช้

  1. นำใบรับรองแพทย์ติดตัวไปด้วย เพื่อยืนยันว่าคุณสุขภาพแข็งแรงพอที่จะบินได้ และจะไม่คลอดบนเครื่อง โดยเฉพาะตอนเครื่องบินบินผ่านกลางทะเล หรือทะเลทรายซาฮารา
  2. ตรวจสอบหาข้อมูลจากสายการบินที่คุณจะโดยสารไปเพราะอาจมีกฎในการบินที่ต่างออกไป
  3. เช็คอินก่อนเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะได้ที่นั่งที่ดี โดยที่นั่งที่กั้นระหว่างชั้นการบินจะเหมาะสำหรับหญิงมีครรภ์ที่ต้องการความสะดวกสบายเพิ่มสักหน่อยในการบิน และถ้าจำเป็นจริงๆ ผู้โดยสารที่มีครรภ์ ควรจะเลือกที่นั่งที่ติดกับทางเดิน ที่มีพื้นที่เพียงพอ สะดวกสบายและเหมาะสำหรับสตรีตั้งครรภ์ 
  4. หากทำได้ ให้คุณจอง หรือขออัพเกรดที่นั่ง เป็นชั้นประหยัดแบบพรีเมียม หรือชั้นธุรกิจ เพราะที่นั่งจะมีที่วางขามากกว่า เข้าออกก็สะดวก แม้จะต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ก็คุ้มเพื่อลูกน้อยและตัวคุณเอง
  5. อย่าลืมนำบัตรประกันสุขภาพติดตัวไปด้วย ติดตัวไปเสมอ เพราะอาจจะสามารถใช้คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลได้
  6. ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ประกันที่ทำไว้สำหรับการเดินทางครอบคลุมเดินทางไปที่ไหนบ้าง ระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ บริษัทประกันส่วนใหญ่จะยืนกรานว่าคุณแม่ในอนาคตจะต้องมีระยะเวลาเผื่อ 8 สัปดาห์ก่อนคลอด เมื่อเดินทางกลับ หลายบริษัทกำหนดเงื่อนไขว่า ความคุ้มครองจะครอบคลุมถึงสัปดาห์ที่ 27 หรือ 28 ของการตั้งครรภ์เท่านั้น ติดต่อบริษัทของคุณ เพื่อสอบถามเงื่อนไขเฉพาะ และสิทธิ์ที่คุณอ้างได้จริงๆ และที่สำคัญมีเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออะไร สำหรับกรณีฉุกเฉินในระหว่างเดินทาง

หมายเหตุ

  1. เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์โดยเร็ว เพื่อจะได้ทราบว่าตัวเรามีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไขได้ทัน เช่น เลือดจางไหม โรคหัวใจ
  2. รับประทานอาหารให้เพียงพอและครบ 5 หมู่ หากอายุครรภ์เกิน 5 เดือน ควรรับประทานอาหาร หรือยาที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ และระหว่างตั้งครรภ์ต้องกินวิตามิน มียาแร่ธาตุเหล็ก มีโฟเลต ไอโอดีน ตามที่แพทย์สั่ง
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 ชั่วโมง
  4. ช่วงเดือนที่ 8 หรือ 9 ให้ระมัดระวังการเดินทางเพราะเป็นช่วงอันตรายที่สุด เนื่องจากท้องมีขนาดใหญ่ การตั้งครรภ์ในช่วง 4-6 เดือนหากมีการเดินทางยังถือว่ามีความปลอดภัยที่สุด แต่หากตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ความปลอดภัยในการเดินทางมีน้อย เพราะจะเกี่ยวข้องกับการแท้งได้ 

สุขสาระ สิงหาคม 2560

Tags : all โรค ร่างกาย สุขภาพ

แก้ไขล่าสุด : 27 ม.ค. 2563, เวลา 23:26


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่