เบื่ออาหารโรคยอดฮิตของสูงวัย

เบื่ออาหารกินอะไรก็ไม่อร่อย หากผู้สูงวัยที่บ้าน หรือท่านเองมีอาการลักษณะนี้ ต้องหันมาสำรวจตัวเอง เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ก่อนที่เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต

นายแพทย์ภรเอก มนัสวานิช อาจารย์ประจำฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ด้วยผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง จึงมีผลทำให้การทานอาหารลดลง เช่น เรื่องกล้ามเนื้อ หรือการเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพลดลง ขณะที่บางคนมีภาวะน้ำลายแห้ง ต่อมรับรสทำงานได้ไม่ดี ทำให้ทานอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม


บางรายมีผลจากโรคประจำตัว หรือคนไข้ต้องทานยามาก ทำให้เบื่ออาหาร มีภาวะท้องผูกเกิดจากการย่อยที่มีปัญหาทำให้การทานอาหารลดลง เพราะรู้สึกแน่นท้อง ขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องสังคม เช่น ไม่มีคนทานอาหารเป็นเพื่อน มีความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ซึมเศร้า ทำให้เกิดภาวะเบื่ออาหาร รวมถึงภาวะที่อยู่อาศัยไกลจากแหล่งที่ซื้ออาหาร ก็เป็นผลเช่นกัน
"อาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุ มักเกิดด้วยหลายปัจจัยพร้อม ๆ กัน จึงต้องพยายามวิเคราะห์ทั้งสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุว่า สิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะมากที่สุด เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ยาบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นทำให้เบื่ออาหาร เช่น ยาความดัน เบาหวาน ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกเบื่ออาหาร หรือยาที่รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น

สำหรับแนวทางการดูแลในเรื่องความเสื่อมสภาพของร่างกายเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ แต่คนไข้ต้องหันมาควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม ถ้าหากมีการควบคุมโรคได้ดี จะทำให้ทานยาลดลง สิ่งนี้จะทำให้ภาวะเบื่ออาหารที่เป็นผลข้างเคียงจากยาลดลงด้วย

ควรมีการขับถ่ายเป็นเวลา ที่ทำให้ท้องไม่ผูก เมื่อท้องโล่งก็สามารถทานอาหารเข้าไปใหม่ได้ ส่วนภาวะจิตใจ หากผู้สูงอายุต้องนั่งทานอาหารคนเดียวอาจจะเบื่อ ครอบครัวจึงต้องมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือพาผู้สูงอายุออกไปทานอาหารนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น

สำหรับผู้สูงอายุที่อาจทานครั้งละ มาก ๆ ไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนมาทานให้บ่อยขึ้นได้ ซึ่งภาวะการเบื่ออาหารผู้ที่เป็นมักรู้ตัวเองว่า เริ่มทานอาหารได้น้อย และทานอะไรก็ไม่อร่อย ซึ่งจากประสบการณ์ทำงาน คนไข้มีทั้งผู้สูงอายุชายและหญิง"


การรับรสที่น้อยลง เกิดจากความเสื่อมที่เป็นไปตามอายุทำให้ผู้สูงอายุต้องทานอาหารรสจัดขึ้น เพราะรับรู้รสได้น้อยลง โดยจะเห็นว่า บางคนใส่น้ำปลาในอาหารมากขึ้น จนอาหารมีรสเค็มกว่าปกติ หรือผู้สูงอายุบางคนมีภาวะปรุงรสอาหารที่หนักขึ้นกว่าเดิมมาก

ภาวะเบื่ออาหารอาจนำไปสู่โรคที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ทานผักผลไม้ไม่ได้จะเกิดอาการท้องผูก หรือได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักลดกล้ามเนื้อแขนขาลีบ จนทรงตัวได้ไม่ดี เกิดการหกล้มทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เมื่อขาดสารอาหารหนักขึ้น จะเกิดโรคขาดวิตามินตามมา โรคกระดูกพรุน หรือเลือดออกง่ายผิดปกติ

การเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้มีภาวะเบื่ออาหาร ควรเริ่มตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ในการทานอาหารให้ครบหมู่ ที่จะทำให้เป็นลักษณะนิสัย เมื่อเข้าสู่วัยชราร่างกายจะเสื่อมถอยได้น้อยลง


"อาหารสำหรับผู้สูงอายุไม่มีข้อห้าม เพราะต้องทานอาหารทุกหมู่ แต่ต้องทานอาหารให้หลากหลาย เพราะจากการทำงานที่ผ่านมาจะเห็นว่า ผู้สูงอายุมักทานอาหารแบบเดิม ๆ อยู่อย่างเดียว ดังนั้นควรกินอาหารหลายๆ แบบเช่น ผักก็กินหลายๆ ชนิด หรือเนื้อสัตว์ก็กินหลายแบบปนกัน"

สำหรับคนที่มีภาวะเบื่ออาหารอยู่ตอนนี้อยากให้สำรวจตัวเองว่า มีภาวะเกิดจากอะไร เช่น จากยาที่รับประทานอยู่ประจำ หรือเกิดจากภาวะสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทางที่ดีควรไปตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน เพื่อหาสาเหตุ ส่วนคนที่ตรวจแล้วเจอภาวะผิดปกติ แล้วยังแก้ไขไม่ได้ ควรจะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ทานอาหารได้ เช่น เปลี่ยนสถานที่ทานอาหาร หรือลองทานอาหารร่วมกันกับครอบครัว

ที่มา สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 6 ธ.ค. 2561, เวลา 00:08



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่