สธ.แจงผลการดำเนินงาน 3 ปี ลดคนติดพยาธิใบไม้ตับได้ แต่ปัญหาใหม่โผล่ เจอป่วยซ้ำเพราะโซ้ย “ก้อยปลาดิบ” เร่งให้ความรู้ พร้อมอบรมหมอผ่าตัดเพิ่ม
กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 1/2561 ก่อนเข้าสู่การดำเนินการตามแผนระยะที่ 2 ตามยุทธศาสตร์ทศวรรษการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคนไทยสุขภาพดีในปี 2568 โดยกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
ทั้งนี้ ประชุมได้มีรายงานผลการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปลาที่เลี้ยงมีการติดพยาธิใบไม้ตับลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 14-20 ประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับลดลง จากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 8 ดังนั้น ระยะ 2 ปี 2562-2568 ตั้งเป้าลดอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2575 ลดอัตราติดพยาธิใบไม้ตับให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2568 โดยเน้นการให้ความรู้ การตรวจคัดกรองให้พบตั้งแต่เริ่มต้น นำเข้าสู่กระบวนการรักษา และเพิ่มจำนวนแพทย์ที่มีความสามารถการผ่าตัดรักษาให้มากขึ้น
ด้าน นางอัมพร จันทวิบูลย์ ผอ.สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำคู่มือวิชาการในการกินปลาร้าอย่างปลอดภัยไปแล้ว โดยหากผ่านการหมักมากกว่า 1เดือนขึ้นไปและผ่านกระบวนการการปรุงต้มจะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามปัญหาคือยังมีผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้เกิดจากปลาร้า แต่เกิดจากวัฒนธรรมกินเมนูปลาดิบๆ เช่น ก้อยปลาดิบ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการศึกษาและทำข้อมูลเสริมให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากการดำเนินงาน 3 ปี พบปัญหาคือ ศัลยแพทย์ไม่เพียงพอ เนื่องจากมะเร็งท่อน้ำดีต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ แม้จะนำแพทย์มาอบรมแต่ก็ยังไม่สามารถผ่าตัดได้เพราะปัจจัยเรื่องเครื่องมือในพื้นที่อาจแตกต่างกัน ดังนั้นในปี 2562 จะส่งศัลยแพทย์เชี่ยวชาญสัญจรไปอบรมแพทย์ในพื้นที่ให้ได้ปฏิบัติจริงในพื้นที่จริงเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น.
ที่มา เว็บไซต์ สสส
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 2 ก.ค. 2561, เวลา 07:40