เจ็บอกลามไหล่ซ้าย เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

อาการที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ มักเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาทำงาน จุกแน่นหน้าอก จะมีอาการจุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกาย

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า อาการที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ มักเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาทำงาน จุกแน่นหน้าอก จะมีอาการจุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกาย หลังจากหยุดออกกำลังกายอาการจะดีขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ และอาการเจ็บนี้จะปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายหรือไปที่กราม ถ้าอาการเจ็บหน้าอกนี้เป็นนานเกินกว่า 3-5 นาที พักแล้วไม่ทุเลาหรืออาการเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

พญ.วิพรรณกล่าวต่อว่า การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนพร้อมใส่ขดลวดค้ำยัน และการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดิน หลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์หัวใจ

พญ.วิพรรณกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรงควรปฏิบัติดังนี้
1.ดูแลตนเอง ไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง

2.ควบคุมน้ำตาลในเลือด
3.ควบคุมความดันโลหิต
4.ควบคุมไขมันในเลือด
5.งดสูบบุหรี่
6.พักผ่อนให้เพียงพอ
7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
8. เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดให้วันที่ 29 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก โดยมีประเด็นในการรณรงค์สำหรับปีนี้ คือ "สัญญาใจเพื่อหัวใจเรา (MY HEART, YOUR HEART)" โดยผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประเทศไทยมีอัตราตายสูงกว่าต่างประเทศประมาณ 4-6 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าเป็นโรคที่รุนแรงและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการทำสัญญาด้วยการหันมาดูแลตัวเองใส่ใจสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง เพื่อหัวใจของเรา และมอบกำลังใจแก่คนรอบข้างในทุกกลุ่มอายุ

ที่มา สสส
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 3 ต.ค. 2561, เวลา 23:32



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่