ภาษีบุหรี่ระบบใหม่ทำพิษ รัฐมีรายได้น้อยลงในขณะที่คนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

การควบคุมยาสูบและบุหรี่ตั้งแต่ในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ใช้เครื่องมือสำคัญคือ นโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้น ซึ่งโดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว บุหรี่เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ เมื่ออัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้น การสูบบุหรี่จะลดน้อยลงในขณะที่ภาครัฐจะมีรายรับภาษีมากขึ้น มันเป็นอย่างนี้มาตลอดเป็นเวลา 20 กว่าปี แต่ว่าความเพียรพยายามของคนที่ทำงานสนับสนุนมาตรการทางภาษีควบคุมบุหรี่ต้องชะงักลงและถอยหลังไปเป็นสิบปี ด้วยโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และจนถึงวันนี้ รัฐบาลก็ยังไม่ได้ปรับแก้ให้ถูกต้อง

โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่เป็นเสมือนแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมบุหรี่ลดราคาขายบุหรี่มาอยู่ที่ต่ำกว่า 60 บาทเพราะสามารถทำกำไรต่อซองได้มากขึ้น ขายบุหรี่ได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอน กำไรรวมย่อมมากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐมีรายรับจากภาษีสรรพสามิตบุหรี่น้อยลง โครงสร้างภาษีใหม่นี้แบ่งอัตราภาษีบุหรี่เป็น 2 ส่วน โดยใช้ราคา 60 บาทเป็นตัวตัด ถ้าบุหรี่ราคาถูกกว่า 60 บาท จะถูกเก็บภาษีแค่ 20% ในขณะที่บุหรี่ราคาสูงกว่า 60 บาท จะถูกเก็บภาษีที่ 40% จริง ๆ ระบบภาษีบุหรี่และยาสูบค่อนข้างซับซ้อน แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ผมขอยกตัวอย่างที่มีเฉพาะภาษีสรรพสามิต สมมุติว่าผมขายบุหรี่อยู่ที่ราคา 80 บาท ผมจะเสียภาษีที่ 40% อยู่ที่ 32 บาท อุตสาหกรรมบุหรี่จะได้ส่วนที่เหลืออยู่คือ 48 บาท ใน 48 บาท นี้เป็นต้นทุนการผลิตบุหรี่อยู่ประมาณ 8 บาท (ซึ่งแน่นอน จำนวนหนึ่งเป็นส่วนแบ่งของชาวไร่ยาสูบ) อุตสาหกรรมบุหรี่จะได้จริง ๆ 40 บาท และหากขายบุหรี่อยู่ที่ราคาซองละไม่เกิน 60 บาท จะเสียภาษี 20% เช่น 12 บาท จะเหลือรายได้ของอุตสาหกรรมบุหรี่ 48 บาท เมื่อหักต้นทุน 8 บาท ก็ยังได้ 40 บาทเหมือนกัน ราคาระหว่าง 60-80 บาทเป็นราคาที่ไม่มีใครอยากขายเลยเพราะได้กำไรน้อยกว่า แล้วในฐานะผู้ผลิตและผู้ขายบุหรี่ ใครจะอยากขายบุหรี่แพงกว่า 80 บาท ในเมื่อโครงสร้างอัตราภาษีเชื้อเชิญให้ผลิตและขายบุหรี่ราคาถูก

ผมไม่เข้าใจว่าระบบภาษีสรรพสามิตบุหรี่นี้เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ทั้ง ๆ ที่ทำให้ภาครัฐได้รายรับภาษีน้อยลง ในขณะที่คนไทยจะสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราทำมาตลอดยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา

อีกประเด็นหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในช่วงนี้ คือที่ว่าระบบภาษีสรรพสามิตใหม่นี้ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ผลิตและขายบุหรี่ขาดทุนและเราต้องช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นเพราะตัวเขาเองที่ไม่ขยับปรับตัวไปตามกลไกการตลาดให้ทันบุหรี่นำเข้า ในความเห็นของผม ไม่ใช่หน้าที่ของคนทำงานควบคุมบุหรี่และยาสูบที่จะต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจด้วย เพราะเป้าหมายของเราคือการทำงานต่อต้านบุหรี่ และไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไทยหรือบุหรี่นอกก็อันตรายต่อผู้สูบและคนใกล้ชิดเหมือนกัน

ดร.อิศรา ศานติศาสน์

สิ่งที่ควรทำได้ขณะนี้คือ ต้องขึ้นภาษีบุหรี่ที่ราคาขายต่ำกว่า 60 บาท ให้สูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็ยกเลิกเส้นตัดแบ่ง 60 บาท ลงไปเลย ให้มันเป็นอัตราเดียวกันทุกยี่ห้อทุกราคา แต่ว่ายังมองไม่เห็นทาง สิ่งที่พลาดไปแล้วก็ต้องยอมรับและแก้ให้ถูกต้อง

สัมภาษณ์ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ณ อาคารศูนย์เรียนรู้ สสม. ถนนร่มเกล้า

ดร.อิศรา ศานติศาสน์


แก้ไขล่าสุด : 27 ต.ค. 2563, เวลา 09:32



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่