แนะ เลือกกินอาหารปลอดภัย ร่วมใจลดขยะ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว เลือกกินอาหารที่สะอาดปลอดภัย ย้ำ ช่วยกันคัดแยกและลดปริมาณขยะ เพื่อสร้างสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ สถานที่ท่องเที่ยวบางพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาวเย็น ทำให้มีประชาชน เริ่มไปท่องเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากผลการดำเนินงานโครงการถนนอาหารปลอดภัยและตลาดสดน่าซื้อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว วิถีไทย พร้อมทั้งพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารของประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีถนนอาหารปลอดภัยและตลาดสดน่าซื้อในจังหวัดท่องเที่ยว แนะประชาชนผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารจากสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางและล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนบริโภคอาหารและหลังเข้าส้วม

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ มีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล รวมถึงตลาดน้ำหรือร้านอาหาร จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2560 อุทยานแห่งชาติที่มี ปริมาณขยะสะสมมากที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีขยะตกค้าง 45,406 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ 17,556 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ 14,905 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี 11,864 กิโลกรัม และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ 10,369 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบขยะพลาสติกในอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก ส่วนใหญ่ เป็นเศษขยะถุงพลาสติกปนเปื้อน เช่น ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว โดยที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบ สัตว์ป่าตาย เนื่องจากระบบการย่อยอาหารล้มเหลว จากการที่มีถุงพลาสติกติดอยู่ในลำไส้และกระเพาะอาหาร

"สถานการณ์ที่น่ากังวลมากในขณะนี้คือ ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก และยังพบว่ามีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากถึง 1 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ซึ่งขยะเหล่านี้ล้วนมาจากกิจกรรมต่างๆ ของคน ก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดทราย แนวปะการัง เป็นต้น อีกทั้งขยะบางประเภทสามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟม พลาสติก เมื่อสัตว์กินเข้าไป จะทำให้สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด นักท่องเที่ยวต้องช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการทิ้งขยะลงถังขยะและแยกขยะให้ถูกต้อง ลดการใช้พลาสติก ไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร และเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้หรือย่อยสลายได้ง่ายแทน พยายามไม่นำสิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว หากนำเข้าไปให้เก็บคืนออกมาให้มากที่สุด ไม่ก่อไฟเผาขยะในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้ได้อีกด้วย” นายแพทย์ดนัย กล่าวในที่สุด

ที่มา กรมอนามัย
ภาพ แฟ้มภาพ

แก้ไขล่าสุด : 31 ต.ค. 2561, เวลา 23:42



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่