ความแตกฉานทางสุขภาพ (Health Literacy) ในมุมมองอิสลาม
ความแตกฉานทางสุขภาพ (Health Literacy) หมายถึง การที่บุคคลมีความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย มีความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ สามารถประเมินความน่าเชื่อถือและความเหมาะสมของเนื้อหากับตนเอง ใช้ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในการให้ความสำคัญกับข่าวสารความรู้นั้นๆ ตลอดจนนำไปสู่การตัดสินใจนำมาลองปฏิบัติและประเมินผลการปฏิบัติจนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง การมีความแตกฉานทางสุขภาพ (Health Literacy) จะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันปัญหาสุขภาพทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ประเด็นสำคัญคือมุสลิมไทยมีความแตกฉานทางด้านสุขภาพมากน้อยเพียงไร และแต่ละกลุ่มมีความแตกฉานเท่ากันหรือไม่ และถ้าไม่เท่า ความแตกต่างนั้นมากน้อยเพียงไร การไม่มีความแตกฉานทางสุขภาพอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพที่แต่ละคนประสบอยู่ ประสบการณ์การเจ็บป่วยของแต่ละคนจะเป็นบทเรียนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้สูงวัยคือกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ชีวิตให้เก็บเกี่ยวมากกว่าคนกลุ่มอื่น
นอกจากหลายประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับหลักการหะลาลและหะรอม หะลาลหมายถึงสิ่งที่ศาสนาอิสลามอนุมัติให้ทำได้ หะรอมหมายถึงสิ่งที่ห้ามกระทำ ซึ่งหลักการหะลาลหะรอมทางการแพทย์ได้ถูกรวบรวมไว้เป็นอย่างดีโดย อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต (2557) ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับ NCDs ซึ่งจะนำมากล่าวถึงในที่นี้ประกอบด้วย
1) การมีบุตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ ตามหลักศาสนาอิสลามประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องคือ ศาสนาอิสลามอนุมัติให้วางแผนการมีบุตรได้ แต่วิธีการไม่ได้กำหนดไว้ โดยการคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่อนุมัติถ้าการมีบุตรนั้นจะส่งผลเสียกับแม่ หรือการมีบุตรถี่เกินไปจะส่งผลให้ผู้เป็นแม่ไม่มีน้ำนมพอที่จะให้แก่ทารกหลายคนพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ไม่อนุมัติให้ผู้ชายทำหมันถาวร และไม่อนุมัติให้ทำแท้งค์เพราะเป็นการทำลายชีวิต ซึ่งตามหลักการอิสลามแล้วทารกในครรภ์ที่มีอายุครบ 120 วันถือว่ามีวิญญาณและเป็นคนคนหนึ่งแล้ว ทุกคนต้องเคารพในสิทธิของเขาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เว้นแต่ว่าเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตของแม่ หรือเป็นบุตรที่เกิดจากการข่มขืนและผู้เป็นแม่มีสภาพสุขภาพจิตที่ไม่สามารถยอมรับเด็กที่จะเกิดมาได้
2) ยา และเวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์หะลาลคือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในคน ที่มีกำหนดการใช้แน่นอน และไม่ใช้ส่วนประกอบที่ขัดต่อหลักการอิสลาม เช่น เอทธิลแอลกอฮอล หรือเจลาตินที่ไม่หะลาล วัคซีนคือเวชภัณฑ์ทางชีวภาพชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตัวเชื้อโรคเพื่อมาลดความรุนแรงของโรค วัคซีนมี 2 ชนิดคือ วัคซีนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเพื่อป้องกันโรค และวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่ต้องฉีดเป็นครั้งคราว การยอมรับหรือไม่ยอมรับวัคซีนด้วยเหตุผลของหะลาลหรือไม่จึงเป็นประเด็นสำคัญ
ในปัจจุบัน วัคซีนส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตจากประเทศมุสลิมจึงไม่สามารถระบุได้ว่าหะลาลหรือไม่ แต่ข้อกังวลนี้จะหมดไปถ้ายึดหลักการที่องค์กร Islamic Medical Science ประเทศคูเวต Islamic Organization ประเทศซาอุดีอราเบีย และ WHO Mediteranian Regional Office ให้ไว้ในปี 1995 ว่า การรับประทานสิ่งที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหมูที่ยังไม่ได้แปรสภาพเป็นหะรอม และสิ่งที่ไม่หะลาลเมื่อผ่านการแปลงสภาพเป็นสารอาหารอีกอย่างหนึ่งที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันถือเป็นหะลาล
ที่มา : คู่มือ "ป่วยเพราะไม่รู้" มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
แก้ไขล่าสุด : 7 ธ.ค. 2563, เวลา 11:02