เตือน!อย่าเลี้ยงลูกแบบ "เปรียบเทียบ"

แนะ พ่อ - แม่ปรับทัศนคติใหม่ เด็กทุกคนมีความงดงามในแบบที่แตกต่างกันออกไป อย่าเลี้ยงแบบ "เปรียบเทียบ" ไม่เช่นนั้นมีเจ็บไม่คนใดก็คนหนึ่ง

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ภายใต้หัวข้อ "เด็กไทย 2018" โดยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่าเด็กไทยยุคนี้ไม่ค่อยได้เรื่อง จากประสบการณ์ในคลีนิควัยรุ่น 100 เคสที่วัยรุ่นมาปรึกษา ครึงนึงต้องรักษาคนพามา 25 เปอร์เซ็นต์ต้องปรับทัศนคติคนส่งมา จริง ๆ แล้วจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กก็เป็นไปตามมาตรฐาน เพียงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เอาเด็กยุคนี้ไปอยู่ยุคเรา หรือเราแปลงกายไปเป็นเด็ก มันก็ไม่ค่อยแตกต่าง เพียงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่นเด็กที่เกิดในช่วงเบบี้บูมเมอร์ยุคหลังสงครามโลกเขาก็เก็บประสบการณ์ความอึดอดทนมาสภาพแวดล้อมสมัยนั้น ทำให้เป็นคนอดทน ไม่ได้มีใครไปฝึกเขาหรอก ไม่งั้นเขาอยู่ไม่ได้

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า เด็กทุกยุคทุกสมัยมีความงดงามในตัวเอง ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกัน คือทำอย่างไรให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ และพัฒนา ประโยคที่ตนเคยพูดไว้ครั้งนึงคือ "เราจะพัฒนาเด็กของเราให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้หุ่นยนต์กันไปทำไม"

2-3 ปีก่อนตนไปประชุมจิตวิทยาระดับโลกที่โยโกโฮมา ครั้งนั้นสร้างความฮือฮาให้กับทุกคนที่เข้าร่วมประชุม เนื่องจากองค์ปาฐกมี 2 คน หน้าตา ใส่ชุด เหมือนกันเป๊ะ คนหนึ่งเป็นมนุษย์ ส่วนอีกคนเป็นหุ่นยนต์ แล้วเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาไปไกลมาก สามารถพูดคุยโต้ตอบมนุษย์ได้เอง โดยที่ไม่ต้องป้อนข้อมูลแล้วประมวล ในครั้งนั้นเหล่านักจิตวิทยาเกิดการพูดคุยกันว่าวิวัฒนาการหุ่นยนต์พัฒนาไปไกล เรื่องความรู้มนุษย์ไม่สามารถสู้ได้ แต่เก่งยังไงก็ไม่มีทางชนะมนุษย์ในด้านเหล่านี้ คือ 1.จินตนาการ เป็นเรื่องที่อย่าทำลายมนุษย์ตรงนี้เด็ดขาด 2.แรงบันดาลใจ 3.สายใยรัก ไม่ใช่แค่รักผิว ๆ แต่คือการร่วมทุกข์ร่วมสุข และ 4.คุณธรรม ถึงบอกว่า "เราจะพัฒนาเด็กของเราให้เป็นหุ่นยนต์ที่แพ้หุ่นยนต์กันไปทำไม"

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่ออีว่า เด็กเก่งทุกวันนี้ในระบบการศึกษาของเรา ไม่ได้เรียนเพราะแรงบันดาลใจ แต่เพราะการมุ่งหวังเอาชนะกัน นี่คือการทำลายแรงบันดาลใจ ระบบแพ้คัดออก มีคนชนะอย่างเดียวไม่ได้มันต้องมีคนแพ้ แล้วมีอยู่วิธีเดียวคือทำข้อสอบให้ยากขึ้น เพื่อคัด 3,000 คนให้เหลือ 100 คน ยกตัวอย่างเคยเจอกรณี แม่กดดันลูกอนุบาล 3 ให้สอบเข้า ป.1 จนกระทั่งลูกเลือดกำเดาไหล อาเจียน กรณีนี้แรงบันดาลใจหาย จินตนาการไม่มี เพราะระบบแพ้คัดออกทุกอย่างใช้ท่องจำหมดเพื่อเอาชนะกันให้ได้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ใช้แล้วระบบลักษณะนี้ เราจะกลับมาลูปเดิมแบบนี้หรือ แล้วถ้าติดเกมเข้าไปอีก สายใยรักมีปัญหา คุณธรรมไม่มีทางจะเกิดขึ้นถ้าไม่คิดจะร่วมทุกข์ร่วมสุข

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวด้วยว่า เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าสีขาว แต่เกิดมาใสบริสุทธิ์ ลวดลายที่เกิดจากการเลี้ยงดูถูกต้อง แต่มันเกิดบนผ้าผืนที่ต่างกัน ตนกำลังให้โจทย์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองง่าย ๆ ว่าถ้ามีลูกอย่าเลี้ยงแบบเปรียบเทียบ ไม่เช่นนั้นมีเจ็บไม่คนใดก็คนหนึ่ง เปลี่ยนทัศนคติเดี๋ยวนี้จะเห็นผลทันที แต่ละคนมีความงดงามในตนเอง บางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ บางคนเป็นศิลปิน ทุกคนแตกต่างกันบนความสามารถที่หลากหลาย แค่เปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ได้กระแสอันนึงที่จะหดไป คือการแพ้คัดออก ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ความตึงเครียดของครอบครัวหายไป

ที่มา สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 28 ส.ค. 2561, เวลา 22:39



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่