กรมอนามัย แนะเลี่ยงกินอาหารที่ "ไขมันทรานส์" และ "ไขมันอิ่มตัว" ชี้มักมาคู่กันในอาหารทอด ฟาสต์ฟู้ด ขนมอบ เบเกอรี แนะกินแต่พอควร กินไขมันอย่างพอเหมาะ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้มาก
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการออกประกาสยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ ว่า มีหลักฐานชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่รณรงค์ให้ลดและเลิกการใช้ไขมันทรานส์ ภายในปี 2023 หรือ พ.ศ. 2566 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะเชื่อว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ 500,000 รายต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ประชาคมโลกที่ได้ให้ความสำคัญกับการลดความตายก่อนวัยอันควรจาก 1 ใน 3 ของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังภายในปี 2573 ซึ่งการกำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ เพราะไขมันทรานส์ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากร่างกายกำจัดไขมันทรานซ์ส์ได้ยาก ทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ยังส่งผลให้เสี่ยงต่อจอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ควรรับประทานกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10% หรือน้อยกว่า 22 กรัมต่อวัน ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่แล้ว ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าร้อยละ 7 หรือน้อยกว่า 15.5 กรัมต่อวัน นอกจากขนมอบ เบเกอรี ฟาสต์ฟูดส์ อาหารทอดน้ำมันท่วม ที่กล่าวมาแล้วจะมีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารอื่นที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ ไขมันที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ หนังไก่ สะโพกไก่ มันหมู เนื้อติดมัน เนย ชีส และไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว จึงควรเลือกรับประทาน เลี่ยงไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว โดยการลดอาหารทอด เลี่ยงฟาสฟูด อาหารทอดน้ำมันท่วม คุมการกินขนมอบและเบเกอรี ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และเพิ่มการกินผักและผลไม้หลากหลายชนิดเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ที่มา เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 19 ก.ค. 2561, เวลา 07:22