หมอธีระวัฒน์ ยันสารพิษในผักผลไม้ 60% ล้างไม่ออก!

“หมอธีระวัฒน์” ชี้ผักผลไม้ที่มีสารตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก และห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจวิเคราะห์สารพิษของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงผลตรวจหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ 48 ชนิด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ผักผลไม้ 6 ชนิด มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน แต่ชี้แจงว่า หากบริโภคในปริมาณน้อย ไม่เกิน 400 กรัมต่อวัน จะไม่เป็นอันตราย และการล้างอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันและลดการตกค้างสารพิษได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha” ระบุว่า ต้องช่วยกันกระจายให้ทราบกันทั่วประเทศ ต้องลากให้อธิบาย และเปิดโปงให้หมด รู้เท่าทันสารพิษ รู้เท่าทันหน่วยงานรัฐ

สิ่งที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้บอกประชาชนกรณีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ 1. ไม่บอกว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก 2. ไม่บอกว่า ห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด เพราะความครอบคลุมในการวิเคราะห์จะให้ผล % การตกค้างแตกต่างกัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่ส่วนใหญ่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น

ส่วนห้องปฏิบัติการที่ไทยแพนใช้ตรวจสอบสารได้มากกว่า 400 ชนิด (แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 45%) สิ่งที่หน่วยงานราชการแถลงต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้จึงเต็มไปด้วยมายาคติหลายชั้น

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง 3. การกำหนดค่า MRL ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการร่วมกันกำหนดระหว่างหน่วยงานราชการ และ 2 สมาคมค้าสารพิษ และ 4. การอ้างว่าแม้ตกค้างเกินมาตรฐาน แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า ปลอดภัย เป็นสิ่งที่รับไม่ได้

เมื่อใดก็ตามที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ผักผลไม้และอาหารนั้น ก็เป็นอาหารพิษต้องเรียกร้องให้หน่วยงานราชการแถลงข้อมูลทั้งหมดในข้อ 1 ถึงข้อ 4 ต่อประชาชน การแถลงร่วมอำมหิต อัปยศของกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขถูกลากเข้าไปอยู่ในเกมของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นว่าผักและผลไม้ ไม่มีการตกค้างมาก และปลอดภัย

นี่คือเหตุผลที่ มกอช. ต้องการดึงเรื่องการคุมอาหารปลอดภัยจาก อย.ไปอยู่ในมือกระทรวงเกษตรฯ การล้างผักที่บอกกันก็ไม่ได้ใช้ความรู้ ดังที่เราทราบว่าสารพิษที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็นสารดูดซึม และอีกอย่างคือวิธีการล้างผักแต่ละวิธีล้างออกได้ไม่เท่ากัน

เรียกร้องเพิ่มมาตรฐานตรวจสารเคมี

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาตั้งแต่ปี 2555 เรื่องสารเคมีและยาฆ่าแมลง พบว่าแม้ได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณน้อยกว่าค่าที่กำหนด แต่ถ้าได้รับในระยะเวลานานจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จึงหารือเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องเร่งด่วนวันนี้ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นตรงกัน

ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุขยังระบุด้วยว่า การตรวจเฝ้าระวังครั้งนี้ ไม่รวมถึงการตรวจหาสารพาราควอตและไกลโฟเซต และยังไม่สามารถตรวจหาสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในไทยทั้ง 280 ชนิดได้ จึงมีข้อแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ ภาคประชาชนที่มีการสุ่มตรวจสารเคมี และเพิ่มมาตรฐานการตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุขยังยืนยันมติเสนอให้ยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง และสนับสนุนการทำเกษตรยั่งยืน ด้วยการออกประกาศแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและสร้างแรงจูงใจในการทำเกษตรอินทรีย์

ที่มา ไทยพีบีเอส
ภาพ แฟ้มภาพ







แก้ไขล่าสุด : 2 ต.ค. 2561, เวลา 23:33



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่