ติดหวาน ระวัง เครื่องดื่มสูตรน้ำตาล 0% เสี่ยงอ้วน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ผู้ที่ชอบดื่มน้ำหวาน และน้ำอัดลมทั้งแบบธรรมดาหรือสูตรไม่มีน้ำตาล ในปริมาณมากและเป็นประจำ เสี่ยงโรคอ้วน แนะควบคุมปริมาณ สั่งหวานน้อย

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงนี้อากาศร้อนขึ้นทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมเพื่อดับกระหาย ซึ่งในน้ำอัดลม จะมี  ส่วนประกอบ คือ น้ำ น้ำตาล สารปรุงสี กลิ่นสังเคราะห์และกรดฟอสฟอริก ทำให้น้ำอัดลมมีฟอง มีรสซ่า และมีคาเฟอีนเพิ่มความตื่นตัวให้กับร่างกาย ลดอาการอ่อนเพลีย หากดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลอยู่สูง ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ร่างกายเผาผลาญและนำไปใช้ได้ไม่หมด เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้อ้วน นอกจากนี้น้ำตาลในเครื่องดื่มเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินออกมามากเกินไป ส่งผลให้ในระยะยาวร่างกายจะผลิตอินซูลินน้อยลงหรือด้อยประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา ในขณะที่น้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาลจะมีส่วนประกอบเหมือนน้ำอัดลม สูตรปกติ แต่จะใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมทดแทนลงไป ซึ่งสารประเภทนี้ให้รสหวาน แต่ไม่ให้พลังงาน สารให้ความหวานเหล่านี้จะกระตุ้นกลไกการทำงานของสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาล มากขึ้น เกิดการติดรสหวาน ต้องการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม  รสหวานบ่อยขึ้น ร่างกายหิวง่ายขึ้นและกินมากกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเองและกลายเป็นคนไม่ติดหวาน

ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า เมื่อดื่มน้ำอัดลมสูตรที่ใส่น้ำตาลเทียม ร่วมกับอาหาร จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดขึ้นสูงกว่าการกินอาหารกับน้ำเปล่า แม้น้ำตาลเทียมจะไม่ใช่น้ำตาลแต่ก็กระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินในร่างกาย อีกทั้งการใช้น้ำตาลเทียมนั้น ยังทำหน้าที่หลอกลิ้นว่าหวาน แต่สมองที่ต้องการน้ำตาลจริงไม่ได้รับความหวานตามที่ต้องการ ก็เกิดการกระตุ้นทำให้อยากกินน้ำตาลมากๆ เพื่อให้หายอยากในภายหลังซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อ้วน นอกจากนี้ แม้น้ำอัดลมจะมีสูตรไม่มีน้ำตาล โดยใส่น้ำตาลเทียมทดแทนลงไป แต่สิ่งที่ยังมีอยู่ในน้ำอัดลมคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ทำให้ท้องอืด จุกเสียดได้

ที่มา กรมอนามัย

 


แก้ไขล่าสุด : 10 เม.ย. 2562, เวลา 08:30



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่