รัฐยืดใช้พาราควอต2ปีชี้ไม่มีสารอื่นทดแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยภายหลังการประชุมหาข้อสรุปเรื่องการห้ามใช้พาราควอต ที่ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียงสนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต

ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่า ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ลงเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

ทั้งนี้ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินตามมาตรการ 5 ข้อ อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปีว่าประเทศไทยจะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารดังกล่าว หรือภายในวันที่ 1 ม.ค. 2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปี

สำหรับ พาราควอต เป็นยากำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1882(พ.ศ.2425) แต่ถูกนำมาใช้กำจัดวัชพืชครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ.2498) ผลิตจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ.2504)

สำหรับในประเทศไทย พาราควอต เป็นชื่อของสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา

ในปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย

ในทางพิษวิทยา พาราควอต ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากสัมผัสกับตาจะทำให้ตาบวมแดงอักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง หากบริโภคจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองลำคอ ปอด และหายใจไม่ออก และส่งผลต่อสภาวะการทำงานของตับ

บีบีซีไทย รายงานว่า การตกค้างของพาราควอตต่อพืชผัก จากการศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในเดือน ธ.ค. 2560 ตรวจพบสารพาราควอตในผักท้องถิ่นทุกตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง กระเพรา คะน้า ชะอม

ขณะที่การตรวจสารตกค้างของผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกของเครือข่ายเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบสารพาราควอตในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง

มติการไม่แบนสารพิษดังกล่าว กำลังกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง และหลายองค์กรเตรียมยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล ลุกลามไปถึงเตรียมรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

ที่มา ข่าวสด


แก้ไขล่าสุด : 15 ก.พ. 2562, เวลา 23:49



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่