พบสารอันตรายปนเปื้อนใน "พลาสติกดำ" ที่ใส่อาหาร-ของใช้

สารเคมีอันตรายและโลหะหนักอย่างตะกั่ว โบรมีน และพลวงปริมาณมาก เข้าไปปนเปื้อนอยู่ในพลาสติกสีดำ ซึ่งเป็นวัสดุที่สัมผัสกับอาหาร และเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่พบได้ทั่วไป

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักรชี้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ามารีไซเคิล เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกดำดังกล่าว

มีการตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ในวารสาร Environment International โดยผู้วิจัยระบุว่า สารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์แลปท็อปและเครื่องเสียง โดยถูกใช้เป็นสารกันไฟและสีเคลือบ ซึ่งจะยังคงตกค้างอยู่แม้อุปกรณ์ดังกล่าวหมดอายุการใช้งานแล้ว

ดร. แอนดรูว์ เทอร์เนอร์ ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า ได้ใช้วิธีวาวรังสีเอกซ์ (XRF Spectrometry) ตรวจสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกดำในชีวิตประจำวัน 600 ชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องประดับ เครื่องใช้สำนักงาน รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าและใหม่

ผู้วิจัยพบว่ามีสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์พลาสติกดำสำหรับผู้บริโภค ทั้งที่ไม่ได้เป็นส่วนประกอบหลักที่จำเป็นในการผลิตพลาสติกดำแต่อย่างใด โดยปริมาณที่ปนเปื้อนนั้นเกินระดับที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

"ผลการตรวจสอบนี้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการคัดแยกวัสดุใช้แล้วสำหรับกระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากผู้ผลิตพลาสติกดำเลือกนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่ากลับมาใช้ใหม่ด้วยเหตุผลเรื่องการประหยัดต้นทุน แต่ขาดความระมัดระวังในการป้องกันไม่ให้สารเคมีอันตรายเข้าถึงผู้บริโภค" ดร. เทอร์เนอร์ กล่าว

ทั้งนี้ สารเคมีอันตรายอย่างตะกั่วอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ โดยผู้ได้รับสารตะกั่วจะมีอาการทางระบบประสาท ความจำเสื่อมถอย และระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ส่วนโบรมีนนั้นเป็นสารที่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของมนุษย์

ที่มา บีบีซีไทย
ภาพ แฟ้มภาพ


แก้ไขล่าสุด : 26 มิ.ย. 2561, เวลา 12:34



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่