อาการบาดทะยัก

โรคบาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดิน หรือในสถานที่ และสิ่งของที่สกปรก ซึ่งมักจะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ทางบาดแผล และเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการชักหรือเกร็ง

อาการบาดทะยัก

โรคบาดทะยักหรือ Tetanus เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในดิน หรือในสถานที่ และสิ่งของที่สกปรก ซึ่งมักจะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ทางบาดแผล และเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการชักหรือเกร็ง ทั้งนี้เพราะเจ้าเชื้อโรคชนิดนี้จะสร้างสารพิษขึ้นมาชนิดหนึ่งเรียกว่า toxin ซึ่งสารนี้มีผลต่อระบบประสาท และทำให้เกิดอาการชักขึ้นมานั่นเอง โดยปกติผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการประมาณ 14 วันโดยเฉลี่ย ซึ่งความสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิต ส่วนคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้วก็ยังสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่โรคนี้ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

ในสมัยก่อนจะพบทารกแรกเกิดเป็นบาดทะยักกันค่อนข้างบ่อย เรียกว่า “บาดทะยักในทารกแรกเกิด” (Tetanus neonatorum) เนื่องจากการคลอดที่ไม่สะอาด เช่น การคลอดตามบ้านโดยใช้ไม้รวกหรือตับจากตัดสายสะดือ รวมถึงการดูแลสะดือของทารกที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้น้ำหมากน้ำลายบ้วน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและกลายเป็นบาดทะยักได้ ซึ่งมักจะพบว่ามีอาการในช่วงหลังคลอดประมาณ 4-14 วัน (บาดทะยักในทารกแรกเกิด หรือที่คนโบราณเรียกว่า ลมสะพั้น ลมตะพั้น สะพั้น หรือตะพั้น หมายถึง อาการชัก มือเท้ากำในเด็กอ่อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือบาดทะยัก)

ในปัจจุบัน โรคนี้พบได้น้อยลงทั้งในผู้ใหญ่และทารกแรกเกิด เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน มีการคลอดที่สะอาดปลอดภัย และมีการดูแลสะดือทารกที่ถูกต้องมากกว่าในสมัยก่อน

เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายอย่างไร

1. แผลสดที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ และไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดีพอ มีฝุ่น น้ำลาย หรือสิ่งของสกปรกติดค้างอยู่ภายในบาดแผล

2. แผลที่เกิดจากการถูกวัสดุที่ไม่สะอาดทิ่มตำหรือบาด เช่น ตะปูขึ้นสนิม กิ่งไม้ มีดขึ้นสนิม

3. แผลที่เกิดจากไฟไหม้

4. แผลที่กดทับและอับ จนเกิดเนื้อตายขึ้น ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยอัมพาต

5. แผลที่เกิดจากสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อเช่น หนู ตุ๊กแก ค้างคาว หรือหมาแมวก็อาจเป็นพาหะของโรคได้เช่นกัน

6. เข้าผ่านทางสายสะดือ

7. ไม่ทราบสาเหตุ

อาการของโรคบาดทะยัก

1. ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงทั้งนี้เพราะเชื้อ toxin นั้นไปจับอยู่กับเส้นประสาทส่วนที่ควบคุมความรู้สึก ส่งผลให้เกิดอาการปวดที่ศีรษะอย่างมาก รวมไปถึงอาการปวดอย่างรุนแรงที่กรามทั้งสองข้าง ตามมาด้วยอาการกรามค้างอ้าปากไม่ได้ รวมไปถึงการกลืนน้ำลายไม่ได้

2. มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งทั้งร่างกาย เพราะเชื้อจะเข้าไปควบคุมบริเวณกล้ามเนื้อลาย โดยเริ่มแรกนั้นผู้ป่วยจะเริ่มปวดหรือเกร็งที่กล้ามเนื้อบริเวณรอบปากแผลก่อน แต่หลังจากนั้น 1-7 วัน จะลามไปสู่การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเมื่อรวมกับอาการปวดกราม-กรามค้าง ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารหรือน้ำได้ ทั้งนี้เพราะอ้าปากไม่ได้นั่นเอง

3. เนื่องจากกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดอาการเกร็ง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคืออาการปวดเมื่อยทั่วร่างกายอย่างรุนแรง และกล้ามเนื้อส่วนที่ช่วยในการหายใจไม่ทำงาน เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย

4. มีไข้เหงื่อออก ผู้ป่วยจะรู้สึกหนาวสั่น แต่ร่างกายนั้นจะมีอุณหภูมิสูงและมีเหงื่อไหลออกมาอยู่ตลอดเวลา

5. ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็ว

การป้องกัน

  1. ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือนและ 15 - 18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4 - 6 ปี ก็ให้ฉีดวัคซีนรวมกระตุ้นอีก 1 ครั้ง พออายุได้ 11 - 12 ปี ก็ให้วัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ กระตุ้นอีก 1 เข็ม หลังจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ กระตุ้นทุกๆ 10 ปี สาเหตุที่ต้องฉีดทุกๆ 10 ปีนั้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อยๆลดไปเรื่อยๆตามกาลเวลา และอาจไม่พอที่จะป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก
  2. สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 -12 เดือน และฉีดกระตุ้นๆทุกๆ 10 ปีตลอดไป
  3. หากฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ ถี่เกินไปคือน้อยกว่าทุก 10 ปีอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมาก มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดทั้งแขนที่ฉีดก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาด ทะยัก
  4. หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักหรือประวัติการได้รับวัคซีนไม่ชัดเจน หรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีน

การป้องกันเมื่อเกิดแผล

  1. ห้ามเลือดบริเวณแผล
  2. ให้ทำความสะอาดแผลหากไม่มีน้ำเกลือก็ใช้น้ำประปาไหลผ่านแผลจนสะอาด อาจจะใช้สบู่ฟอก หากมีสิ่งแปลกปลอมให้พบแพทย์
  3. ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  4. เปลี่ยนผ้าพันแผลวันละครั้งหรือเมื่อปนเปื้อนมาก
  5. ให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

ข้อแนะนำ ไม่ควรปล่อยให้บาดแผลสกปรก เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผลเกิดขึ้น ให้รีบทำความสะอาดปากแผลให้ทั่วด้วยแอลกอฮอล์และยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเศษดินหรือสิ่งของสกปรกติดค้างอยู่ภายใน รวมไปถึงไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคมากจนเกินไปนั่นเอง

สุขสาระ กันยายน 2560

Tags : all โรค ร่างกาย

แก้ไขล่าสุด : 6 ก.พ. 2563, เวลา 09:11


บทความอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่