กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชน เลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ลดเสี่ยงเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน พร้อมย้ำผู้ผลิตให้ควบคุมขั้นตอนการผลิต รวมถึงห้ามแช่สิ่งของอื่นๆ ในน้ำแข็งบริโภคเด็ดขาด
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีประชาชนได้โพสต์ข้อความใน สื่อออนไลน์เกี่ยวกับการพบพยาธิปนเปื้อนในก้อนน้ำแข็งนั้น สันนิษฐานได้ว่ามาจากการปนเปื้อนของอุจจาระที่มาจากคนและสัตว์ ทั้งที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมทั้งแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำแข็ง ซึ่งในการผลิตน้ำแข็ง น้ำที่ใช้ต้องมีความสะอาดเทียบเท่ากับคุณภาพน้ำบริโภค ที่มีความสะอาดใส ไม่มีความขุ่น ไม่มีกลิ่นและ สิ่งปลอมปน รวมทั้งต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ไม่ให้มีการปนเปื้อน เนื่องจากการผลิตน้ำแข็งถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีกำหนดแนวทางมาตรการใน การควบคุมกระบวนการผลิตของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้มีความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนอยู่แล้ว โดยอำนาจหน้าที่ในการควบคุมกำกับให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่นในฐานะผู้ควบคุมดูแลและออกใบอนุญาต ซึ่งในเบื้องต้นการดำเนินการตรวจสอบกรณีการปนเปื้อนของพยาธิดังกล่าว ต้องสืบสวนว่าร้านอาหารจัดเก็บน้ำแข็งอย่างไร รับน้ำแข็งมาจากโรงงานใด เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการประเมิน ตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและป้องกันการเกิดเหตุ
"ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และ ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) และฉบับที่ 254 (พ.ศ.2545) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิตการใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท และมีการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการควบคุมกิจการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็ง ซึ่งเป็นกิจการที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย น้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด ไม่ควรวางอยู่บนพื้น ทางเท้าหรือใกล้ ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ใช้มือกอบน้ำแข็ง ส่วนร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด ดังนั้น หากพบน้ำแข็งไม่สะอาด มีสิ่งปลอมปน ขอให้แจ้งร้านค้าหรือร้านอาหารที่เข้าไปใช้บริการ และแจ้งหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าพนักงานสาธารณสุขเพื่อเข้าไปตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็ง กิจการแบ่งบรรจุ ค้าส่งน้ำแข็ง ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพื่อหาสาเหตุ ให้ข้อแนะนำในการปรับปรุง รวมทั้งใช้อำนาจในการสั่งการทางกฎหมายให้หยุดเพื่อแก้ไข และปิดกิจการได้ตามลำดับ เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา กรมอนามัย
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 11 พ.ย. 2561, เวลา 22:30