เด็กกินหวานเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนกลุ่มเด็กไทยชอบกินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม หากกินหวานมากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แนะพ่อแม่ คุมเข้มลดหวาน เลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดปัญหาสุขภาพทั้งภาวะโภชนาการเกิน โรคอ้วน และโรคเบาหวาน ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเย็น กาแฟเย็น เบเกอรีและขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงนี้ เริ่มพบมากตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยเรียน โดยมีรายงานข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านการบริโภคอาหารในเด็กวัยเรียน โดยกรมอนามัย ปี พ.ศ.2560 พบว่าเด็กอายุ 10 ปี ร้อยละ 33 และเด็กอายุ 12 ปี ร้อยละ 47.1 มีพฤติกรรมการเลือกกินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม หลังเวลา 6 โมงเย็น 1-3 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้น การปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก เลี่ยงการกินอาหาร หวาน มัน เค็ม เพื่อป้องกันการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอาหารจำพวกน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ แต่หากได้รับมากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วนตามมา

"ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลลูกหลาน ให้กินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม น้อยลง เพื่อสร้าง ความเคยชินในการรับรสและไม่ติดรสหวาน พยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ไม่เกิน 6 ช้อนชา ควรให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย ลองกอง เป็นต้น หากเด็กอยากดื่มน้ำหวานให้เลือกดื่มน้ำผลไม้สดไม่เติมน้ำตาลแทน เลือกกินผลไม้รสไม่หวานจัดเป็นอาหารว่างหรืออาหารกินเล่นแทนขนมหวาน นอกจากนี้ ควรพาลูกหลานทำกิจกรรม ทางกายจนเหนื่อยหอบอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง สูงดีสมส่วน มีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีไม่มีโรคในอนาคต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา กรมอนามัย
ภาพ แฟ้มภาพ

แก้ไขล่าสุด : 16 พ.ย. 2561, เวลา 07:43



ข่าวอื่นๆ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่