นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปอดจากการประกอบอาชีพโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงสีข้าว เหมืองแร่ โรงงานทอผ้า โรงงานกระสอบ โรงงานปั่นด้าย โรงงานทำถ่านไฟฉาย โรงงานบดโม่ และสกัดหิน ต้องสูดหายใจเอาฝุ่นละออง ควัน หรือสารพิษเข้าไปในปอด จึงต้องระวังสิ่งเหล่านี้เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือเป็นพิษในทางเดินหายใจ มีผลให้เนื้อปอดถูกทำลาย และสมรรถภาพการทำงานของปอดเสื่อมลง บางรายอาจมีปอดอักเสบหรือเกิดผังพืดในปอด ทำให้เกิดอาการหอบหืด เช่น โรคหอบหืดจากการทำงาน หรือหากหายใจเอาฝุ่นละอองพวกสารอนินทรีย์หรือฝุ่นแร่ที่ทำให้ปอดอักเสบ อาจทำให้เกิดโรคปอดนิวโมโคนิโอสิส ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศมีทั้งขนาดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และที่มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น เมื่อหายใจเอาฝุ่นเข้าไปในปอด จะทำให้เป็นโรคปอดชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ฝุ่นฝ้าย อาจทำให้มีอาการคล้ายเป็นหืด ฝุ่นหินอาจทำให้ปอดแข็ง ฝุ่นแร่ใยหินอาจทำให้ปอดแข็งและเป็นมะเร็ง ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคปอดจากการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมักมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ หายใจลำบากและอ่อนเพลีย และมีโอกาสที่จะเป็นวัณโรค ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่น หรือโรคนิวโมโคนิโอสิสคือ 1. ป้องกันไม่ให้มีฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ในสถานที่ที่ทำงาน เช่น ใช้น้ำฉีดบริเวณที่มีฝุ่นในโรงงานโม่บดหิน 2. ปิดเครื่องจักรให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาได้ 3. มีการระบายอากาศที่ดี และใช้เครื่องดูดฝุ่นติดไว้ที่เครื่องจักรที่มีฝุ่นมาก 4. ผู้ปฏิบัติงานควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 5. ตรวจสุขภาพของคนงานอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะการเอกซ์เรย์ปอดและตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด ฉะนั้นผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงควรใส่ใจดูแลตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นเพื่อสุขภาพที่ดีและสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ภาพ แฟ้มภาพ
แก้ไขล่าสุด : 16 ธ.ค. 2561, เวลา 23:27